มนุษย์มีความต้องการสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่หามาได้ด้วยตนเอง และหามาไม่ได้ด้วยตนเอง เมื่อมีความต้องการในบางสิ่ง แต่หามาเองไม่ได้ บวกกับการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม การแลกเปลี่ยนจึงได้เกิดขึ้น เริ่มจากการแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของ ต่อด้วยการสร้างระบบการเงินตราในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน เบี้ย เหรียญ หรือธนบัตร เพื่อการและเปลี่ยนสินค้าและบริการ
เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ด้านหนึ่งของการผลักดันเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society นั่นก็คือ สังคมที่ไม่จำเป็นต้องพกพาธนบัตร เงินสดหรือบัตรเครดิตอีกต่อไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์ ที่มีต้นทุนด้านการเงินที่ต่ำกว่า เพราะเท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตธนบัตรเพื่อนำมาหมุนเวียนในตลาด บัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมถึงตู้ ATM ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นราคาที่มหาศาลเลยทีเดียว
QR code กับ Cashless Society
สิ่งหนึ่งในวิวัฒนาการของสังคมไร้เงินสด คือการชำระเงินด้วย QR Code โดย QR Code มาจากคำว่า Quick Response Code เป็นรหัสที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจาก Barcode แต่อยู่ในลักษณะบาร์โค้ด 2 มิติ เพื่อให้สามารถใช้งานง่ายขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น สามารถบรรจุข้อมูลได้ถึง 4,000 ตัวอักษร ใน QR code จะมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านั้น ๆ เมื่อใช้ควบคู่กับแอพพลิเคชั่นที่ผูกไว้กับข้อมูลการเงินก็จะสามารถทำรายการตัดยอดเงินออนไลน์เพื่อชำระค่าสินค้าได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
การชำระเงินด้วย QR นั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการชำระเงินของร้านค้า ทั้งร้านแบบมีหน้าร้าน (Physical) และร้านค้าออนไลน์ เคยไหมที่ไปเดินตลาดนัด แต่ลืมกดเงินสดและไม่ได้พกบัตร ATM มาด้วย รู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถซื้อสินค้าได้เลย เพราะร้านค้าในตลาดนัดไม่รับบัตรเครดิต ถึงแม้จะเป็นร้านค้าแบบ Physical บนห้างที่รับบัตรเครดิต แต่ก็ต้องแบกรับต้นทุนจำพวกเครื่องรูดบัตรต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมการรูดบัตร
ในมุมของลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ได้รับประสบการณ์ในความสะดวกรวดเร็ว ความสะดวกสบายในการใช้งานที่ไม่ต้องพกพาเงินสดหรือบัตรหลาย ๆ ใบซึ่งนอกจากจะยุ่งยากแล้ว การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตยังปลอดภัยน้อยกว่า เพราะการยื่นบัตรให้ร้านค้านั้นอาจเสี่ยงต่อการโดนขโมยข้อมูลทางการเงินได้ แต่ปัญหาของความสะดวกสบายนี้เอง ที่อาจทำให้ผู้บริโภคมองข้ามหรือขาดวินัยทางการเงินแก่ตนเอง เพราะการชำระค่าสินค้าและบริการเพียงแค่ไม่กี่คลิก โดยที่มือยังไม่ได้หยิบจับหรือเห็นธนบัตรออกจากกระเป๋า อาจจะทำให้การควบคุบการใช้จ่ายของตนเองเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ EMVCo ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างประเทศที่ดูแลสนับสนุนการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการชำระเงินในระดับสากล ได้ประกาศใช้มาตรฐานสากล QR Code สำหรับจ่ายเงินที่ผูกกับบัตรเครดิตและเดบิตแล้ว และธนาคารแห่งประเทศไทยกับสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้นำมาตรฐาน EMVCo มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน