5G คืออะไร? แล้วทำไมต้อง 5G?

ช่วงท้ายปี 2018 นี้โฆษณาค่ายมือถือต่าง ๆ รวมทั้งสื่อหลายแขนงเริ่มพูดถึงเทคโนโลยี 5G ในเมืองไทยกันแล้ว แม้จะไม่ทราบความหมายของศัพท์เทคนิคต่าง ๆ นานา แต่ผู้คนก็พอจะอนุมานได้คร่าว ๆ ว่า 5G คือ ความแรงความเร็วที่มากกว่า 3G หรือ 4G แน่ ๆ จริง ๆ มันก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจถึงข้อดีหลัก ๆ ของเทคโนโลยีดังกล่าว แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราได้รับรู้ข้อมูลอีกนิดเพื่อการเตรียมตัวในอนาคตอันใกล้นี้

5G เป็นชื่อย่อให้ง่ายต่อภาษาปากใช้เรียกเจเนอเรชั่นที่ 5 ของการสื่อสารด้วยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 5th Generation of Cellular Mobile Communications โดยการเรียกว่าเป็น 5G ได้นั้นมันถูกกำหนดให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

Latency ระยะเวลาเชื่อมต่อไปถึงปลายทาง ต่ำกว่า 0.001 วินาที ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมทางไกลโดยสั่งงานกล้องถ่ายทอดสดกีฬาให้หันไปในทิศทางใด มันจะทำงานทันทีโดยไม่มีการหน่วงเวลาเป็นต้น

ครอบคลุมพื้นที่ได้ 100% ผู้ใช้งานมือถือส่วนใหญ่คงจะเคยประสบปัญหาสัญญาณไม่ครอบคลุมตามคำโฆษณาของค่ายมือถือ แต่เมื่อเป็นเทคโนโลยี 5G มันถูกกำหนดโดยกฏหมายว่าต้องครอบคลุมพื้นที่ตามคำโฆษณาได้ 100% เท่านั้น ขจัดปัญหามือถือรับสัญญาณอ่อนเมื่ออยู่ไกลเสาส่งและบังคับผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบกับคำอวดอ้างใด ๆ ที่จะใช้ในการโฆษณา

Bandwidth ความแรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อช่องสัญญาณหลากหลายขึ้น ฉะนั้นช่องสัญญาณ 5G จึงถูกกำหนดให้เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีเดิมเกินกว่า 1,000 เท่าในแต่ละพื้นที่

รองรับการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีตัวแรงนี้ถูกกำนดให้ รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ เพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ในแต่ละพื้นที่เช่น เดิมทีพื้นที่หนึ่งอาจจะรองรับอุปกรณ์ได้สูงสุดเพียง 10,000 ตัว ก็จะกลายเป็น 1,000,000 ตัวเลยทีเดียว

ความเสถียร 99.9999% คือตัวเลขของความเสถียรที่ถูกขีดเส้นไว้ ความมั่นคงของการสื่อสารระดับนี้จะทำให้ปัญหาโทรศัพท์สายหลุด อินเทอร์เน็ตติด ๆ ดับ ๆ ช้าบ้างเร็วบ้างกลายเป็นชีวิตยุคหินไปเลย

ความเร็ว ความเร็วถือเป็นจุดพีคของเทคโนโลยีนี้ เราทุกคนเคยเห็นหน่วยวัดความเร็วหรือสปีดเทสต์เป็นหน่วย Mbps หรือเมกะไบต์ต่อวินาที แต่ในยุคต่อไปจะต้องใช้หน่วยวัดใหม่เป็น Gbps ซึ่งก็คือกิ๊กกะไบต์ต่อวินาที โดยเทคโนโลยี 5G จะมีความเร็ว 10 Gbps ขึ้นไปเท่านั้นถึงจะเรียกว่าห้าจีได้ ลองนึกตามก็แล้วกัน สมมุติว่าเราโหลดไฟล์เกมจากสตรีมที่ขนาดไม่เกิน 10 Gb โดยใช้เวลาไม่ถึงวินาทีมันถือว่าเร็วขนาดไหน?

การใช้พลังงาน พลังงานในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีนี้สวนทางกับความเร็วความแรงของมันอย่างยิ่ง เพราะมันจะใช้พลังงานในการเชื่อมต่อต่ำกว่าเทคโนโลยีที่ผ่าน ๆ มา นั่นแปลว่ามันจะประหยัดแบตเตอรี่มือถือและอุปกรณ์เชื่อมต่อทั้งหลายลงได้ ทำให้เกิดความร้อนสะสมต่ำแถมยังยืดอายุของอุปกรณ์นั้น ๆ ไปในตัวด้วย

เทคโนโลยี 5G ในเมืองไทยถูกกำหนดให้เตรียมประกาศใช้ในปี 2020 ใกล้เคียงกับนานาประเทศ ซึ่งถือว่าอีกไม่นานเท่าไร หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าการเชื่อมต่อความเร็วสูงนี้จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไปเลย บางสิ่งที่เรียกว่าไฮเทคตอนนี้อาจจะตกยุคไป เครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ จะมาแทนที่ เราจึงควรเตรียมพร้อม หาความรู้ไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อถึงเวลานั้นคนที่พร้อมกว่านั่นเองจะได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกที่วิวัฒน์ไปอีกขั้น

เกร็ดเล็กน้อยกับเทคโนโลยี 5G กับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

5G ถือเป็นเทคโนโลยีไร้สายประเภทหนึ่ง ที่มาพร้อมกับระดับความสามารถที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเร็ว (speed) ที่เพิ่มมากขึ้น ระดับความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่ลดน้อยลง (lower network latency) และขนาดของความจุที่สูงขึ้น (capacities) โดยมาตรฐานความเร็วของ 5G จะอยู่ที่ 1- 10 Gbps (กิกะบิต ต่อ วินาที)

นำ 5G มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

5G เมื่อนำมาใช้กับ Smart Devices จำพวก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอชท์ ทำให้การรับชมและแชร์วีดีโอเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดอีกต่อไป อีกด้วยความสามารถนี้ จะช่วยส่งเสริมผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้นในหลากหลายเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน อาทิ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) โดยการเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลและยังค่อนข้างปลอดภัยอีกด้วย

5G เมื่อนำมาใช้กับ Internet Of Thing ซึ่งคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการยกระดับสู่บ้านอัจฉริยะ (smart home) โดยนำมาควบคุม ทีวี ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศ กล้องวงจรปิด หรือ ยานยนต์อัจฉริยะ (autonomous driving technology) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยจากการที่รถยนต์สามารถทำกระบวนการตัดสินใจได้ภายในรถเอง หรือใช้ในทางการแพทย์ เพื่อฉายภาพ hologram ในการร่วมผ่าตัดระยะทางไกล เป็นต้น

สำหรับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ IoT ต้องการนั้นจะแตกต่างจากที่ Smart Devices  ต้องการ คือ ต้องการความเร็วไม่มากแต่ต้องพร้อมรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์จำนวนมาก ๆ ได้ในขณะเดียวกัน

แต่การจะเตรียมพร้อมไปสู่ 5G จะต้องผนวกกำลังจากทั้งภาครัฐในการกำกับดูแล แผนจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ และภาคเอกชนเพื่อเข้ามาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ทำให้คลื่นถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน เพื่อที่จะนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ และต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

ข้อควรระวังกับเทคโนโลยี 5G

อันที่จริงการนำเทคโนโลยีใด ๆ มาใช้นั้น สามารถสร้างประโยชน์มหาศาล แต่ก็ต้องระมัดระวังในด้านของความปลอดภัยเป็นเงาตามตัวเช่นกัน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น อาจมาจากผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบ ดักฟัง บันทึกข้อมูลลับต่าง ๆ ทรัพย์สินทางออนไลน์มาข่มขู่ หลอกลวงผู้ใช้ หรือ การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ จากผู้ไม่ประสงค์ดีจากระยะไกล

ยกตัวอย่างเช่น ระบบบ้านอัจฉริยะ คนร้ายสามารถแฮ็กอุปกรณ์หลาย ๆ สิ่งในบ้าน อาทิ กล้องวงจรปิดเฝ้าดูทารก สมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ เพื่อการติดตามความเคลื่อนไหว การเดินทาง หรือข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนร้ายอาจเลือกแฮ็กเครื่องทำกาแฟ เครื่องปรับอากาศ กาต้มน้ำ เตาอบ หรืออุปกรณ์ที่สามารถก่ออันตรายหรือความเสียหายต่อบ้าน หรือ รถคันนั้น ๆ ได้

หากอุปกรณ์เหล่านี้ ได้มีการฝังระบบรักษาความปลอดภัย และมีกระบวนการจัดการกรณีที่พบช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นการออก patch หรืออัพเดทเฟิร์มแวร์อัตโนมัติ ก็จะช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นนิสัยและพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย การไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ การตรวจสอบและมีสติต่อข้อมูล หรือการเตือนภัยที่ได้รับจากบุคคลที่ทั้งรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม