สแกนม่านตาความปลอดภัยที่เลียนแบบกันไม่ได้

สังคมในปัจจุบันความปลอดภัยถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสูงสุด เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาก การดำเนินชีวิตที่สะดวกสบาย ทำให้คนให้ความสำคัญกับวัตถุสิ่งของมาก เห็นแก่ความต้องการของตัวเองมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดปัญหาต่าง ๆ ที่มีเพิ่มมากขึ้น และมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ความปลอดภัยจึงกลายมาเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีจึงต้องพัฒนาควบคู่กับการพัฒนาด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในชีวิตของทุกคนมากที่สุดก็คือ โทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone

                Smart Phone แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันอีกชิ้นหนึ่งของคนทุกคน เพราะ Smart Phone ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตอย่างมากมาย มีการนำมาใช้แทบจะทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิต และที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันนำ Smart Phone มาใช้กับการเงินและการธนาคาร ทำให้เกิดอันตรายอย่างมากในการที่จะถูกขโมยทั้ง Smart Phone และเงินในบัญชี ดังนั้น ส่งผลให้ต้องมีการพัฒนาความปลอดภัยของ Smart Phone อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ผู้ใช้เชื่อมั่นได้ว่าแม้โทรศัพท์จะหาย แต่ก็ไม่มีใครสามารถเปิดโทรศัพท์และทำธุรกรรมอื่น ๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากขึ้น

ระบบสแกนม่านตาลักษณะเด่นเฉพาะคนที่เลียนแบบกันไม่ได้

                เทคโนโลยีใหม่ และมีความปลอดภัยอย่างมากสำหรับโทรศัพท์มือถือแบบ Smart Phone คือ การสแกนม่านตา (Iris Scanning) โดยเปลี่ยนจากการรักษาความปลอดภัยแบบเดิม ๆ คือการใส่รหัส หรือการสแกนนิ้วมือ ที่มีความปลอดภัยน้อยกว่า การสแกนม่านตาคือ ระบบการตรวจสอบการเข้ารหัสความปลอดภัยโดยใช้การตรวจสอบทางกายภาพของม่านตา ซึ่งม่านตาของแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เรียกได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่เลียนแบบกันไม่ได้ ดังนั้น การนำระบบการสแกนม่านตามาใช้กับ Smart Phone จึงถือได้เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยที่สุด รับรองได้ว่าไม่มีใครสามารถเข้าถึงการใช้งานภายในโทรศัพท์ได้

                ระบบสแกนม่านตาที่นำมาใช้กับ Smart Phone นั้น เริ่มตั้งแต่การปลดล็อกการเข้าหน้าจอ การทำงานก็สะดวกสบาย ด้วยการสแกนม่านตาครั้งแรกเพื่อให้ Smart Phone จดจำม่านตาของผู้ใช้งานก่อน จากนั้นเมื่อต้องการปลดล็อกก็เพียงแค่จ้องไปที่หน้าจอของ Smart Phone ก็สามารถใช้งานได้ทันที ทั้งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ยังนำการสแกนม่านตามาใช้กับการเก็บข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องการความปลอดภัยมาก เช่น สมุดโน้ต ไฟล์งานที่เป็นความลับของตนเอง หรือหน่วยงาน เป็นต้น

                ในอนาคตอันใกล้นี้ การสแกนม่านตาจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น โดยจะมีการนำมาใช้ในหลายธุรกิจมากขึ้น เช่น ใช้ในการบันทึกเวลางานของพนักงาน ใช้กับระบบการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคาร และใช้สำหรับเช็คชื่อนักเรียนในโรงเรียน เป็นต้น  เพราะระบบการสแกนม่านตานี้จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นได้ว่าเกิดความปลอดภัยอย่างสูง และไม่สามารถที่จะปลอมแปลงกันได้ เรียกได้ว่าชีวิตจะสะดวกสบายแบบไม่เสี่ยงกับปัญหาที่จะตามมา

GDPR ความปลอดภัยของผู้ใช้ ถือเป็นความหนักใจขององค์กรหรือไม่ อย่างไร?

ความเป็นส่วนบุคคล หรือ Privacy นั้น กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องหลักที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง สิทธิที่จะอยู่ตามลำพัง และเป็นสิทธิที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเอง ในการจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยให้กับผู้อื่น สิทธินี้หมายรวมถึงทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์การต่าง ๆ

เมื่อเทคโนโลยีที่มาในหลากหลายรูปแบบ ทำให้ขอบเขตของความเป็นส่วนบุคคลนั้นลดน้อยลงไป จนส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูลได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ Data Breach ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกขโมยไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หลายประเทศจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคหรือที่เรียกกันว่า GDPR

GDPR ย่อมาจาก General Data Protection Regulation คือ กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของ EU (European Union) โดยให้ความคุ้มครองกับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป เน้นว่าครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขต EU โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีสัญชาติใน EU นะ กฎหมายนี้มีข้อกำหนดให้ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ส่วนมากมักเกี่ยวกับว่าข้อมูลถูกนำไปใช้ที่ไหน และนำไปใช้อะไร และสิทธิต่าง ๆ ในการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น

อะไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล?

ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วยอะไรก็ตามที่จะบ่งบอก หรือระบุตัวตนได้ ในทางตรงไปตรงมา ได้แก่ เลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด รูปลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่น ๆ (Sensitive Information) เช่น ข้อมูลไบโอเมทริกส์ ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือ เล็บ เส้นผม ดีเอ็นเอ และอื่น ๆ หรือรวมถึงข้อมูลในเชิงไลฟ์สไตล์ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ทั้งยังคุ้มครองข้อมูลที่สามารถชี้กลับมายังตัวบุคคลได้ด้วยเช่นกัน เช่น IP address หรืออัตลักษณ์บนโลกโซเชียล

ภายใต้ GDPR บริษัทใดก็ตามที่ถือครองข้อมูลเหล่านี้อยู่ ต้องวางมาตรการควบคุม และจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดอย่างมั่นคงปลอดภัย ก่อนที่จะขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ การขอความยินยอมจากผู้บริโภคจะต้องมีข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่รวบรับชัดเจน ไม่คลุมเครือ และการถอนความยินยอมก็ต้องทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้หน่วยงานควบคุมข้อมูล ลบข้อมูลของตัวเองออกได้ หรือที่เรียกว่า สิทธิ์ที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) โดยองค์กรจะต้องจัดการให้ตามคำขออย่างเหมาะสมรวดเร็ว

บทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎนั้นถือว่าค่อนข้างแรงทีเดียว รวมถึงหากเกิดกรณี Data Breach ขึ้น ค่าปรับนั้นสูงถึง 4% ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลกทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านยูโรเลย

 

แบตเตอรี่ยุคใหม่ สร้างความแฮปปี้ได้มากแค่ไหน ไปดูกันเลย

เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฮม สมาร์ทวอช รถยนต์ และอื่น ๆ แต่ทว่าอุปกรณ์หลายอย่างเหล่านั้นต้องการแหล่งพลังงานในการทำงาน ซึ่งวิวัฒนาการสำหรับวัสดุให้พลังงานหรือแบตเตอรี่นั้นยังมีข้อจำกัด และต้องการการพัฒนามากยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีก็ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาแบตเตอรี่เช่นกัน เพื่อตอบสนองความสามารถของอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

มาตรฐานด้านความสามารถในการอัดประจุของแบตเตอรี่ จะขึ้นอยู่กับระบบการกักเก็บพลังงาน คงเป็นที่รู้จักกันดีกับ แบตเตอรี่ลิเธียม (Lithium-ion Batteries) โดยลิเธียมนั้นเป็นโลหะเบา และให้แรงดันไฟฟ้าสูง ความหนาแน่นพลังงานสูง จึงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ทางเลือกใหม่ของแบตเตอรี่ในรูปแบบอื่น

  • โซเดียมไอออน(sodiumion)

โซเดียม หรือก็คือส่วนประกอบหลังของเกลือที่ใช้ในการปรุงอาหารนั่นเอง การนำโซเดียมมาทำแบตเตอรี่นั้นทำให้โซเดียมไอออนมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตเพราะหาได้ง่าย เพราะน้ำทะเลเองก็เต็มไปด้วยโซเดียม และมีความปลอดภัยสูงกว่าลิเธียมไอออนแบตเตอรี่อีกด้วย

  • คาร์บอนแบตเตอรี่ (carbon battery)

ผลึกคาร์บอนหรือวัสดุพวก Graphene มีคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง และเบากว่าเหล็กธรรมดาทั่วไปมากถึง 6 เท่า ทำให้สามารถลำเลียงส่งกระแสไฟออกมาใช้ได้ในปริมาณที่มากกว่า การชาร์จไฟเข้าเร็วกว่าแบตเตอรี่อย่างลิเธียมไอออนมากถึง 20 เท่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คาร์บอนยังถือเป็นทรัพยากรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

  • เส้นลวดนาโน(nanowires)

การใช้เส้นใยสายไฟนาโนที่มีขนาดบาง ยิ่งกว่าเส้นผมมนุษย์เป็นพันเท่า เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแบตเตอรี่ จะช่วยเพิ่มพื้นที่และการเก็บประจุ การถ่ายเทประจุไฟฟ้ามากขึ้น จึงทำให้อายุการใช้งานนานมากขึ้น แต่ด้วยความบางจึงส่งผลให้สภาพของมันบอบบางไปด้วย

  • โฟมแบตเตอรี่ (foam battery)

โฟมอาจทำให้รู้สึกแปลกเมื่อนำมาทำเป็นแบตเตอรี่ แต่เมื่อนำโฟมมาเคลือบด้วยแอโนด (anode) จะสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเข้าได้เร็วกว่าแบตเตอรี่อย่างลิเธียมไอออนถึง 5 เท่า ที่สำคัญโฟมเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ปลอดภัย และอายุการใช้งานยาวนานกว่าลิเธียมไอออนแบตเตอรี่

ยังคงมีอีกมากมายหลากหลายผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำมาเป็นทางเลือกในการผลิตแบตเตอรี่ การค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ขีดความสามารถของแบตเตอรี่ก้าวล้ำอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งด้านความอึด ความทน อายุการใช้งาน น้ำหนักของแบตเตอรี่ ความเร็วในการชาร์จไฟเข้า เพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภคโดยไม่ต้องมาคอยกังวลว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีแบตเตอรี่ระหว่างการใช้งาน ต้องเตรียมอุปกรณ์ชาร์จไฟสำรองไว้ หรือหากต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่กับอุปกรณ์เช่น ในสมาร์ทโฟน แล้วต้องเสี่ยงกับการที่สีฝาหลังหลุดหลอก หรือสูญเสียคุณสมบัติกันน้ำไปจากการเปิดฝา และความกังวลอื่น ๆ