5G คืออะไร? แล้วทำไมต้อง 5G?

ช่วงท้ายปี 2018 นี้โฆษณาค่ายมือถือต่าง ๆ รวมทั้งสื่อหลายแขนงเริ่มพูดถึงเทคโนโลยี 5G ในเมืองไทยกันแล้ว แม้จะไม่ทราบความหมายของศัพท์เทคนิคต่าง ๆ นานา แต่ผู้คนก็พอจะอนุมานได้คร่าว ๆ ว่า 5G คือ ความแรงความเร็วที่มากกว่า 3G หรือ 4G แน่ ๆ จริง ๆ มันก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจถึงข้อดีหลัก ๆ ของเทคโนโลยีดังกล่าว แต่มันคงจะดีกว่าถ้าเราได้รับรู้ข้อมูลอีกนิดเพื่อการเตรียมตัวในอนาคตอันใกล้นี้

5G เป็นชื่อย่อให้ง่ายต่อภาษาปากใช้เรียกเจเนอเรชั่นที่ 5 ของการสื่อสารด้วยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ มันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 5th Generation of Cellular Mobile Communications โดยการเรียกว่าเป็น 5G ได้นั้นมันถูกกำหนดให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

Latency ระยะเวลาเชื่อมต่อไปถึงปลายทาง ต่ำกว่า 0.001 วินาที ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมทางไกลโดยสั่งงานกล้องถ่ายทอดสดกีฬาให้หันไปในทิศทางใด มันจะทำงานทันทีโดยไม่มีการหน่วงเวลาเป็นต้น

ครอบคลุมพื้นที่ได้ 100% ผู้ใช้งานมือถือส่วนใหญ่คงจะเคยประสบปัญหาสัญญาณไม่ครอบคลุมตามคำโฆษณาของค่ายมือถือ แต่เมื่อเป็นเทคโนโลยี 5G มันถูกกำหนดโดยกฏหมายว่าต้องครอบคลุมพื้นที่ตามคำโฆษณาได้ 100% เท่านั้น ขจัดปัญหามือถือรับสัญญาณอ่อนเมื่ออยู่ไกลเสาส่งและบังคับผู้ให้บริการต้องรับผิดชอบกับคำอวดอ้างใด ๆ ที่จะใช้ในการโฆษณา

Bandwidth ความแรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อช่องสัญญาณหลากหลายขึ้น ฉะนั้นช่องสัญญาณ 5G จึงถูกกำหนดให้เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีเดิมเกินกว่า 1,000 เท่าในแต่ละพื้นที่

รองรับการเชื่อมต่อเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีตัวแรงนี้ถูกกำนดให้ รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ เพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ในแต่ละพื้นที่เช่น เดิมทีพื้นที่หนึ่งอาจจะรองรับอุปกรณ์ได้สูงสุดเพียง 10,000 ตัว ก็จะกลายเป็น 1,000,000 ตัวเลยทีเดียว

ความเสถียร 99.9999% คือตัวเลขของความเสถียรที่ถูกขีดเส้นไว้ ความมั่นคงของการสื่อสารระดับนี้จะทำให้ปัญหาโทรศัพท์สายหลุด อินเทอร์เน็ตติด ๆ ดับ ๆ ช้าบ้างเร็วบ้างกลายเป็นชีวิตยุคหินไปเลย

ความเร็ว ความเร็วถือเป็นจุดพีคของเทคโนโลยีนี้ เราทุกคนเคยเห็นหน่วยวัดความเร็วหรือสปีดเทสต์เป็นหน่วย Mbps หรือเมกะไบต์ต่อวินาที แต่ในยุคต่อไปจะต้องใช้หน่วยวัดใหม่เป็น Gbps ซึ่งก็คือกิ๊กกะไบต์ต่อวินาที โดยเทคโนโลยี 5G จะมีความเร็ว 10 Gbps ขึ้นไปเท่านั้นถึงจะเรียกว่าห้าจีได้ ลองนึกตามก็แล้วกัน สมมุติว่าเราโหลดไฟล์เกมจากสตรีมที่ขนาดไม่เกิน 10 Gb โดยใช้เวลาไม่ถึงวินาทีมันถือว่าเร็วขนาดไหน?

การใช้พลังงาน พลังงานในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีนี้สวนทางกับความเร็วความแรงของมันอย่างยิ่ง เพราะมันจะใช้พลังงานในการเชื่อมต่อต่ำกว่าเทคโนโลยีที่ผ่าน ๆ มา นั่นแปลว่ามันจะประหยัดแบตเตอรี่มือถือและอุปกรณ์เชื่อมต่อทั้งหลายลงได้ ทำให้เกิดความร้อนสะสมต่ำแถมยังยืดอายุของอุปกรณ์นั้น ๆ ไปในตัวด้วย

เทคโนโลยี 5G ในเมืองไทยถูกกำหนดให้เตรียมประกาศใช้ในปี 2020 ใกล้เคียงกับนานาประเทศ ซึ่งถือว่าอีกไม่นานเท่าไร หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าการเชื่อมต่อความเร็วสูงนี้จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไปเลย บางสิ่งที่เรียกว่าไฮเทคตอนนี้อาจจะตกยุคไป เครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ๆ จะมาแทนที่ เราจึงควรเตรียมพร้อม หาความรู้ไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อถึงเวลานั้นคนที่พร้อมกว่านั่นเองจะได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกที่วิวัฒน์ไปอีกขั้น

Chatbot เป็นได้มากกว่าแค่ระบบอัตโนมัติสำหรับตอบคำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ในหลาย ๆ เว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บขายสินค้าออนไลน์ มักจะมีช่องทางสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า การจ่ายเงิน การจัดส่งสินค้า การรับประกันสินค้า และอื่น ๆ เสมือนกับอาชีพ Call Center ที่ใช้บุคลากรมนุษย์ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า แต่อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้งพนักงาน Call Center ก็ต้องตอบคำถามเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงต้องใช้ความอดทนกับข้อร้องเรียน หรืออารมณ์ หรือการตำหนิจากลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างความกดดดัน ความเครียดโดยไม่จำเป็น ดังนั้นแล้ว เทคโนโลยีจึงถูกนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ สิ่งนั้นก็คือ Chatbot

Chatbot คืออะไร?

Chatbot หรือแชทบอท คือ Conversational Interface เป็นช่องทางในการให้ผู้เข้ามาใช้เว็บไซต์มีปฏิสัมพันธ์กับระบบหรือเว็บไซต์นั้น ๆ โดย Chatbot นั้นมีหน้าที่ในการอ่านข้อมูลที่ลูกค้าถาม ตอบข้อมูลที่เหมาะสมแก่คำถามนั้น ๆ รวมถึงประสานงานทำธุรกรรมต่าง ๆ ในระบบ

รูปแบบของ Chatbot ที่ใช้เวลาในการพัฒนาไม่นานมาก อาจเป็นเพียงการสร้างเงื่อนไขในการตอบคำถาม (Rule-Based) ให้กับ Chatbot ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า หรือ ตอบคำถามที่พบบ่อยเบื้องต้น

แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ต้องการสังคม ดังนั้น Chatbot ที่ตอบคำถามได้เพียงเชิงข้อมูลดิบหรือเชิงวิชาการเท่านั้น จะทำให้ Chatbot ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ผู้ใช้ได้ อีกทั้งบางครั้งผู้ใช้เลือกใช้ประโยคนำสมัย หรือพูดเล่นด้วยคำแสลงแล้ว Chatbot ไม่เข้าใจ ก็ส่งผลต่อ user experiences เช่นกัน

การสร้าง Chatbot ที่มีความฉลาดและมีบุคลิกเป็นของตนเอง (Persona) โดยนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้ปริมาณมาก ๆ เพื่อให้เจ้า Chatbot เรียนรู้บทสนทนาในรูปแบบที่แตกต่างกันและประยุกต์ใช้ในบทสนทนากับผู้ใช้ที่แตกต่างกันออกไป Chatbot จะต้องคำนึงถึงความเรียบรื่นของการสนทนา การเริ่มต้นและจังหวะการปิดจบบทสนทนา ลักษณะบทสนทนาที่ใช้ต้องมีความสุภาพ น่าฟัง ไหลลื่น ไม่สร้างความสับสนแก่ลูกค้า

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี AI สามารถเพิ่มความฉลาดให้กับ Chatbot ในการเข้าใจภาษาธรรมชาติ การคำนวนหาแนวโน้ม (trend) หาพฤติกรรมการใช้งาน และสร้างเงื่อนไข (rules) ในการตอบคำถามต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ (Personalization) และนำเสนอสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดขาย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ไปจนถึงเป็นผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant) ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย

จะเห็นว่า Chatbot นั้นจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Chatbot กับผู้ใช้งาน ทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการข้อมูล อย่างไรก็ตาม Chatbot นั้นยังคงเป็นระบบ ดังนั้น Chatbot จึงมาพร้อมกับความสามารถในการจัดเก็บบันทึกข้อมูลของผู้ใช้อย่างเป็นระเบียบ ค้นหาเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต วิเคราะห์ค้นหาทางเลือก และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้า เรียกได้ว่า การพัฒนาของ Chatbot นั้น จะนำไปสู่การผสมผสานความสามารถของมนุษย์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน