พลังงานแสงอาทิตย์ทางเลือกใหม่สำหรับคนรักษ์โลก

พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลากลางคืนที่มืด แสงไฟกลายมาเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต พลังงานไฟฟ้าถือที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันถือเป็นพลังงานแบบสิ้นเปลืองเพราะเมื่อใช้แล้วสามารถหมดไปได้ ส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการหาพลังงานทดแทนพลังงานสิ้นเปลือง นั่นคือ พลังงานหมุดเวียน หรือพลังงานทดแทนที่ทำให้ใช้พลังงานได้ไปตลอดแบบไม่มีขีดจำกัด เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานคลื่น หรือพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

                พลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะเป็นพลังงานที่หาได้ง่ายรอบตัว เป็นการใช้แสงแดด หรือแสงอาทิตย์ และความร้อน ที่ได้รับจากพระอาทิตย์ มาแปรรูปเป็นพลังงาน พระอาทิตย์ถือเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล ที่สามารถผลิตพลังงานได้ทุกวัน และเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่สร้างมลภาวะต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งปัญหาให้กับโลก การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ง่าย และได้รับความนิยมมากที่สุดมาใช้แปรเป็นพลังงาน คือ การนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell มาประกอบรวมกับแบตเตอรี่ที่ใช้ในการเก็บพลังงาน วิธีการทำงานก็คือแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะเก็บแสงแดด และความร้อนจากแสงอาทิตย์ มาแปรรูปเป็นพลังงาน โดยพลังงานที่ได้นี้จะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ และพลังงานจะภายในแบตเตอรี่ก็จะถูกแปรรูปอีกครั้งให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และนำไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในปัจจุบันมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ที่จะนำมาใช้มีดังนี้

  1. โคมไฟ Solar Cell เป็นโคมไฟที่ใช้พลังแสงอาทิตย์ในการให้แสงสว่าง โดยโคมไฟนอกจากจะมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่แล้วยังมีระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจจับ เมื่อเข้าไปใกล้ หรือผ่านเซนเซอร์ไฟก็จะติดทันที ถือเป็นโคมไฟที่ทั้งประหยัดพลังงาน และยังทำงานด้วยระบบอัตโนมัติอีกด้วย
  2. รถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะปกติรถยนต์จะใช้พลังงานน้ำมันในการขับเคลื่อน พลังงานน้ำมันถือเป็นพลังงานสิ้นเปลือง มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยังสร้างมลภาวะให้กับโลกอีกด้วย แต่รถพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้พลังงานน้ำมันหมดไป และจะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ของการขับขี่อย่างแน่นอน
  3. ตู้เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับการประหยัดทั้งพลังงาน และค่าใช้จ่ายในระยะยาว แม้ราคาของตู้เย็นแสงอาทิตย์จะแพงกว่าตู้เย็นทั่วไป แต่ในระยะยาวแล้วรับรองว่าคุ้มค่า เพราะไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้ารายเดือน และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
  4. พัดลมพลังงานแสงอาทิตย์ ก็กลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา และไม่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือน

ในความเป็นจริงแล้วมีอุปกรณ์ไฟฟ้าอีกหลายชนิด ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้แทนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นพลังงานทางเลือกที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะผู้ใช้งานนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับโลกได้อีกด้วย เรียกได้ว่า โลกสวยด้วยมือเราอย่างแท้จริง

2018 ปีแห่งการริเริ่มเทคโนโลยีแบบใหม่

ไม่ว่าปี 2018 นี้สายนทีแห่งเวลาจะพัดพาความทุกข์หรือสุข ความผิดหวังหรือสมหวัง อย่างไรก็ดีมันก็เป็นปีที่หลายๆภาคส่วนหลาย ๆ ด้านเริ่มวางรากฐานเพื่อการวิวัฒน์พัฒนาสังคมมนุษย์ไปข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีที่กลายเป็นกลไกสำคัญในการนำพามนุษย์ก้าวไปไกลกว่าเดิม ดังนั้นในปี 2018 นี่เองจึงถือเป็นจุดเริ่มในการทดลองสร้างสรรค์หลาย ๆ อย่าง บางอย่างก็สำเร็จเสร็จสิ้นในปีนี้โดยที่เราเองยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

                AI เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ถูกพูดถึงมานาน หลายแง่มุม มีการจินตนาการให้เอไอเป็นสิ่งล้ำเลิศ ชั่วร้าย หรือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ มันปรากฏในภาพยนตร์หลายเรื่อง ในอดีตจรดมาถึงยุคปัจจุบัน AI อาจไม่ได้สำเร็จโดยสมบูรณ์และไม่แน่ว่ามันอาจจะไม่มีวันสมบูรณ์ด้วย มันอาจจะอยู่ในขั้นพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ จะพึงพอใจ หรือถูกขีดเส้นไว้ว่าควรพัฒนาถึงจุดไหน แต่ที่แน่ ๆ คือในปี 2018 นี้เองบริษัทไฮเทคจำนวนหนึ่งเริ่มใช้งานเอไออย่างไม่เป็นทางการกันแล้ว ผู้คนก็เริ่มรับรู้ด้วยตัวเองเช่นกันว่าปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีส่วนในชีวิตของพวกเขา เช่น การพูดคุยผ่านแชตซึ่งอาจจะมีรูปหรือข้อความถึงกล่าวถึงสินค้าจำพวกใดจำพวกหนึ่ง จากนั้นโฆษณาที่แจ้งเตือนขึ้นมาในสื่อโซเชียลมีเดียก็จะมีแต่สินค้าประเภทนั้นให้เห็นเรื่อย ๆ เป็นต้น

NHK48 ไม่ได้เป็นไอดอลวงใหม่ต่อยอดความสำเร็จจาก AKB48 แต่อย่างใด แต่ NHK48 เป็นการเล่นคำถึงเหตุการณ์สำคัญที่บริษัทกระจายเสียงแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นหรือ NHK ทำการออกอากาศทีวีดิจิตอลบนความละเอียด 4K และ 8K เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการปูรากฐานของโทรทัศน์ในอนาคต ทั้งนี้ยังมีความเห็นชอบกันว่าต่อไปในอนาคตคำว่า Full HD จะถูกกำหนดให้มีความละเอียด 8K แทนที่ความหมายก่อนหน้าทั้งหมดอีกด้วย

ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีแคชเชียร์ ยังวนเวียนอยู่ในประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น ร้านสะดวกซื้อชั้นนำในญี่ปุ่นเริ่มทดลองระบบจำหน่ายสินค้าแบบไม่มีคนขายหรือแคชเชียร์แล้ว โดยผู้ซื้อสามารถสแกนบาร์โค้ดเสร็จแล้วจึงหยิบสินค้าจากชั้นวางใส่ถุงแล้วเดินออกไปได้เลย ระหว่างที่เดินออกจากร้านต้องผ่านอุโมงค์ที่มีเครื่องสแกนซึ่งมันจะทำการสแกนสินค้าและทำการหักเงินผ่านบัญชี จากนั้นจึงส่งใบเสร็จให้ลูกค้าผ่านทางแอปพลิเคชั่น ร้านค้าแบบนี้พัฒนาขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในญี่ปุ่นนั่นเอง

VAR ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย World Cup 2018 ที่รัสเซียเมื่อกลางปีที่ผ่านมา หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดและกลายเป็นตัวตัดสินผลการแข่งขันหลาย ๆ เกมก็คือ VAR หรือ video assistant referee เป็นครั้งแรกที่วิดีโอช่วยตัดสินมีบทบาทในฟุตบอลระดับนานาชาติ ด้วยความแม่นยำ เที่ยงตรง ทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นหนึ่งในฟุตบอลโลกที่ขาวสะอาดที่สุด และจากนั้นเป็นต้นมา VAR คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกฟุตบอลไปตลอดกาล

เทคโนโลยีแทบทุกด้านกำลังก้าวหน้าต่อไปเช่นเดียวกับเวลาที่เดินไปข้างหน้าเท่านั้น เมื่อเราก้าวข้ามปีนี้ไปแล้วและหันกลับมามอง เราจะเห็นอดีตที่เป็นจุดเริ่มของเรื่องราวต่าง ๆ เราอาจจะอมยิ้มพลางระลึกถึงเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งมันอาจจะเป็นความทรงจำเลือนลางหรือแจ่มชัดสำหรับแต่ละคน และมันคือปีที่ชื่อว่า คริสต์ศักราช 2018

GDPR ความปลอดภัยของผู้ใช้ ถือเป็นความหนักใจขององค์กรหรือไม่ อย่างไร?

ความเป็นส่วนบุคคล หรือ Privacy นั้น กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องหลักที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง สิทธิที่จะอยู่ตามลำพัง และเป็นสิทธิที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเอง ในการจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยให้กับผู้อื่น สิทธินี้หมายรวมถึงทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์การต่าง ๆ

เมื่อเทคโนโลยีที่มาในหลากหลายรูปแบบ ทำให้ขอบเขตของความเป็นส่วนบุคคลนั้นลดน้อยลงไป จนส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูลได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ Data Breach ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกขโมยไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หลายประเทศจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคหรือที่เรียกกันว่า GDPR

GDPR ย่อมาจาก General Data Protection Regulation คือ กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของ EU (European Union) โดยให้ความคุ้มครองกับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป เน้นว่าครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขต EU โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีสัญชาติใน EU นะ กฎหมายนี้มีข้อกำหนดให้ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ส่วนมากมักเกี่ยวกับว่าข้อมูลถูกนำไปใช้ที่ไหน และนำไปใช้อะไร และสิทธิต่าง ๆ ในการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น

อะไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล?

ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วยอะไรก็ตามที่จะบ่งบอก หรือระบุตัวตนได้ ในทางตรงไปตรงมา ได้แก่ เลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด รูปลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่น ๆ (Sensitive Information) เช่น ข้อมูลไบโอเมทริกส์ ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือ เล็บ เส้นผม ดีเอ็นเอ และอื่น ๆ หรือรวมถึงข้อมูลในเชิงไลฟ์สไตล์ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ทั้งยังคุ้มครองข้อมูลที่สามารถชี้กลับมายังตัวบุคคลได้ด้วยเช่นกัน เช่น IP address หรืออัตลักษณ์บนโลกโซเชียล

ภายใต้ GDPR บริษัทใดก็ตามที่ถือครองข้อมูลเหล่านี้อยู่ ต้องวางมาตรการควบคุม และจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดอย่างมั่นคงปลอดภัย ก่อนที่จะขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ การขอความยินยอมจากผู้บริโภคจะต้องมีข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่รวบรับชัดเจน ไม่คลุมเครือ และการถอนความยินยอมก็ต้องทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้หน่วยงานควบคุมข้อมูล ลบข้อมูลของตัวเองออกได้ หรือที่เรียกว่า สิทธิ์ที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) โดยองค์กรจะต้องจัดการให้ตามคำขออย่างเหมาะสมรวดเร็ว

บทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎนั้นถือว่าค่อนข้างแรงทีเดียว รวมถึงหากเกิดกรณี Data Breach ขึ้น ค่าปรับนั้นสูงถึง 4% ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลกทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านยูโรเลย

 

หมดกังวลกับปัญหาระบบล่ม เมื่อนำเทคโนโลยี Microservices มาใช้งานได้จริง

สำหรับเหล่านักพัฒนาเว็บไซต์และเว็บแอปพลิเคชัน นอกเหนือจากการพัฒนาระบบให้มีฟังก์ชั่นที่ถูกต้องตามความต้องการ (Requirements) แล้วนั้น ยังคงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน (Performance) การพัฒนาปรับปรุง (Enhancement) และการซ่อมบำรุง (Maintenance) อีกด้วย หากการออกแบบระบบ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปรับแก้ และซ่อมบำรุงเว็บแอปพลิเคชัน ประกอบกับหากเว็บเหล่านั้นมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา คงเป็นการยากที่จะระงับการใช้งานเว็บไซต์และเว็บแอปพลิเคชันชั่วคราว และคงจะสร้างประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นักแก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ เทคโนโลยี Microservices จะสามารถช่วยลดปัญหาการระงับใช้ระบบชั่วคราว หรือ ทั้งระบบล่มจนไม่สามารถใช้งานได้

รู้จักกับ Microservices กันก่อน

Microservices แปลตรงตัวก็คือ บริการ (service) ขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ ตัว โดยที่ในแต่ละ service จะมีหน้าที่ในการทำงานเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ละ service จะต้องมีอิสระต่อกันไม่ผูกพันกับส่วนอื่น ๆ และอยู่ได้ด้วยตัวเอง (autonomous) การออกแบบ service จะต้องรองรับการทดแทนได้ เพื่อที่ว่า ถ้า service ตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ต้องปิดตัวลง หรือต้องการการปรับปรุงใหม่เนื่องด้วยความต้องการ (Requirements) เปลี่ยนแปลง หรือต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ระหว่างที่ระงับการใช้งาน service ตัวนั้น service ตัวอื่น ๆ จะต้องยังคงต้องสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ระบบเว็บไซต์จองโรงแรม ก็อาจจะแบ่ง service ออกเป็นย่อย ๆ เช่น service สำหรับค้นหาโรงแรม service สำหรับลงทะเบียนสมาชิก service สำหรับจองโรงแรม service สำหรับยกเลิกการจอง service สำหรับรีวิวโรงแรมแ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกแบบโครงสร้างและแบ่งส่วน Microservices รวมถึงการวางแผนการส่งต่อข้อมูลระหว่าง service เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด

ระบบล่มคืออะไร?

ข้อผิดพลาดในระบบนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป คงไม่มีระบบใดในโลกที่ปราศจากข้อผิดพลาดเลย โดยข้อผิดพลาดเหล่านั้นอาจเกิดได้จากเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยเหตุทางตรงก็คือความผิดพลาดในฟังก์ชั่นการทำงานจริง ๆ หรือที่เรียกกันว่า bugs ที่หนักหนาจนทำให้ระบบติดขัดทำงานต่อไม่ได้ ในทางอ้อมอาจเกิดจากการที่ผู้ใช้จำนวนมาก ใช้งานหนักจนเกิดขีดจำกัดของระบบ จนกระทั่งระบบรับไม่ไหว จึงล่มและไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ใช้งานต้องพบเจอกับข้อความยุ่งเหยิงหรือ error messages หรือหน้าจอค้างไม่ตอบสนองอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เอง การที่ระบบถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อรองรับเหตุการณ์เมื่อระบบเกิดข้อผิดพลาด จะทำให้ป้องกันการล่มของระบบทั้งหมดได้ จะเห็นว่าเมื่อระบบถูกออกแบบมาในรูปแบบของ Microservices จะทำให้การตรวจสอบเพื่อค้นหาส่วนที่ต้องแก้ไขเมื่อประสบปัญหาเป็นไปได้ง่าย ทำให้ระบบสามารถเรียกกลับคืนได้ไว รวดเร็ว และในระหว่างการแก้ไข service ใด ๆ นั้น service อื่น ๆ จะยังคงทำงานได้ต่อไปตามปกติไม่มีการหยุดชะงักหรือ crash ทั้งระบบ นั่นถือว่า ระบบถูกออกแบบมาได้ดีแล้ว