เกร็ดเล็กน้อยกับเทคโนโลยี 5G กับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

5G ถือเป็นเทคโนโลยีไร้สายประเภทหนึ่ง ที่มาพร้อมกับระดับความสามารถที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเร็ว (speed) ที่เพิ่มมากขึ้น ระดับความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่ลดน้อยลง (lower network latency) และขนาดของความจุที่สูงขึ้น (capacities) โดยมาตรฐานความเร็วของ 5G จะอยู่ที่ 1- 10 Gbps (กิกะบิต ต่อ วินาที)

นำ 5G มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

5G เมื่อนำมาใช้กับ Smart Devices จำพวก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอชท์ ทำให้การรับชมและแชร์วีดีโอเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดอีกต่อไป อีกด้วยความสามารถนี้ จะช่วยส่งเสริมผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้นในหลากหลายเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน อาทิ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) โดยการเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลและยังค่อนข้างปลอดภัยอีกด้วย

5G เมื่อนำมาใช้กับ Internet Of Thing ซึ่งคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการยกระดับสู่บ้านอัจฉริยะ (smart home) โดยนำมาควบคุม ทีวี ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศ กล้องวงจรปิด หรือ ยานยนต์อัจฉริยะ (autonomous driving technology) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยจากการที่รถยนต์สามารถทำกระบวนการตัดสินใจได้ภายในรถเอง หรือใช้ในทางการแพทย์ เพื่อฉายภาพ hologram ในการร่วมผ่าตัดระยะทางไกล เป็นต้น

สำหรับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ IoT ต้องการนั้นจะแตกต่างจากที่ Smart Devices  ต้องการ คือ ต้องการความเร็วไม่มากแต่ต้องพร้อมรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์จำนวนมาก ๆ ได้ในขณะเดียวกัน

แต่การจะเตรียมพร้อมไปสู่ 5G จะต้องผนวกกำลังจากทั้งภาครัฐในการกำกับดูแล แผนจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ และภาคเอกชนเพื่อเข้ามาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ทำให้คลื่นถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน เพื่อที่จะนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ และต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

ข้อควรระวังกับเทคโนโลยี 5G

อันที่จริงการนำเทคโนโลยีใด ๆ มาใช้นั้น สามารถสร้างประโยชน์มหาศาล แต่ก็ต้องระมัดระวังในด้านของความปลอดภัยเป็นเงาตามตัวเช่นกัน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น อาจมาจากผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบ ดักฟัง บันทึกข้อมูลลับต่าง ๆ ทรัพย์สินทางออนไลน์มาข่มขู่ หลอกลวงผู้ใช้ หรือ การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ จากผู้ไม่ประสงค์ดีจากระยะไกล

ยกตัวอย่างเช่น ระบบบ้านอัจฉริยะ คนร้ายสามารถแฮ็กอุปกรณ์หลาย ๆ สิ่งในบ้าน อาทิ กล้องวงจรปิดเฝ้าดูทารก สมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ เพื่อการติดตามความเคลื่อนไหว การเดินทาง หรือข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนร้ายอาจเลือกแฮ็กเครื่องทำกาแฟ เครื่องปรับอากาศ กาต้มน้ำ เตาอบ หรืออุปกรณ์ที่สามารถก่ออันตรายหรือความเสียหายต่อบ้าน หรือ รถคันนั้น ๆ ได้

หากอุปกรณ์เหล่านี้ ได้มีการฝังระบบรักษาความปลอดภัย และมีกระบวนการจัดการกรณีที่พบช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นการออก patch หรืออัพเดทเฟิร์มแวร์อัตโนมัติ ก็จะช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นนิสัยและพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย การไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ การตรวจสอบและมีสติต่อข้อมูล หรือการเตือนภัยที่ได้รับจากบุคคลที่ทั้งรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม