Smart Farming ลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน คุ้มเหรอ?

การเกษตรในอดีตที่ทำเพื่ออยู่ทำเพื่อกินนั้น เป็นเรื่องปกติที่ผลผลิตจะได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่กับการเกษตรเพื่อการจำหน่ายนั้นการสูญเสียผลผลิตถือเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งหมายถึงผลกำไรที่หายไป เงินทุนหมุนเวียนในฤดูกาลหน้าหรือปีถัดไปก็เช่นกัน ทุกวันนี้เกษตรกรของไทยเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรกว่าแปดแสนล้านบาทต่อปี ยังไม่นับหนี้อันเกิดจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาล ภาครัฐรวมทั้งเอกชนเองเล็งเห็นปัญหานี้และต่างมองหาทางออก ทางเลือกในการทำการเกษตร ช่องทางในการจำหน่ายผลิตผล

เกษตรอัจฉริยะ เป็นทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดในบรรดาวิธีการทั้งหมดที่โลกมองหา การเกษตรอัจฉริยะอยู่บนแนวคิดที่เรียกว่าเกษตรแม่นยำสูง เป็นที่นิยมมากในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย และทั่วทั้งทวีปยุโรป หลักการคือใช้ฐานข้อมูลบริหารจัดการสำเร็จรูป เก็บข้อมูลอุณหภูมิ น้ำ ความชื้น ภาพถ่ายทางอากาศ พยากรณ์อากาศ และข้อมูลของดิน มาช่วยในการวิเคราะห์ด้วย Big Data จากนั้นจึงสรุปเป็นตัวเลขหรือข้อมูลแบบรูปภาพแอนิเมชั่น ช่วยให้เกษตรกรเข้าใจได้โดยง่ายและสามารถจัดการกับพืชผลในเรือนสวน ไร่ นา ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกแสดงให้รับทราบผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเข้าสู่การแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่น ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ นอกจากจะแสดงข้อมูลสำคัญแทบทุกด้าน แอพพลิเคชั่นเหล่านี้จะมีคำแนะนำในการเพาะปลูก การจัดการกับปัญหา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ของพืชชนิดนั้นๆ อย่างถูกต้องแม่นยำ

ที่ขาดเสียไม่ได้คือเครื่องกลในการเกษตรที่ล้ำหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่งทั้งหุ่นยนต์ปรับพื้นที่ ไถ หว่านเมล็ดได้เอง ระบบให้น้ำที่ครอบคลุม ทั่วถึง จ่ายน้ำและหยุดได้เองตามการตั้งเวลาหรือตามอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ โดยที่มนุษย์ทำหน้าที่แค่อ่านค่าที่ถูกวิเคราะห์บนมือถือหรือแท็ปเล็ต และเก็บเกี่ยวสำหรับพืชอ่อนไหวบางชนิดยังต้องใช้มนุษย์ในการเก็บผลผลิต

การเกษตรอัจฉริยะมุ่งเน้นให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน มีรายได้เพิ่ม ลดการสูญเสียของผลผลิต แน่นอนตัวเลขของระบบบริหารจัดการนี้ไม่น้อย แต่ในระยะยาวอย่างไรก็ตามเกษตรกรก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเห็นถึงความคุ้มค่าและผลของการผลักดันจากทุกภาคส่วนให้เป็นไปในแนวทางนี้ อีกไม่นานทั้งรัฐและเอกชนจะเตรียมสนับสนุนทั้งแหล่งเงินทุน และองค์ความรู้ให้เกษตรกรเพราะเล็งเห็นว่าหากเกษตรกรมีความรู้ เกษตรกรรมเติบโต นั่นหมายถึงรายได้มหาศาลที่จะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ

เพราะฉะนั้นคำตอบของคำถามที่ว่าทำการเกษตรแบบ Smart Farming ที่ต้องลงทุนเป็นแสนเป็นล้านคุ้มหรือไม่? คำตอบคือไม่ว่าอย่างไรก็คุ้ม ตัวอย่างมีให้เห็นทั้งในต่างประเทศและประเทศเราเอง เด็กรุ่นใหม่หลายคนยอมทิ้งชีวิตในกรุง ทิ้งงานออฟฟิศเพื่อมุ่งทำการเกษตรอัจฉริยะ บางคนมีความรู้ระดับด็อกเตอร์แต่กลับหันมาทำสวนทำไร่ ลองนึกดูสิว่าพวกเขามองเห็นอะไรในอนาคตของการเกษตร?

 

วิวัฒนาการของภาคการเกษตร กับการใช้โดรน (drone) แทนแรงงานมนุษย์

การเกษตร การทำฟาร์ม โดยปกติแล้วจะเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ ที่จะต้องใช้แรงงานคนค่อนข้างมากเพื่อการควบคุมดูแลและบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง ด้วยการนำเทคโนโลยีอย่างโดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ  (Unmanned Aerial Vehicles) เข้ามาช่วยส่งเสริมการทำการเกษตรนั้น จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานคน ยิ่งในภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจนเกือบจะขาดแคลนด้วยแล้ว ยิ่งช่วยเกษตรกรเจ้าของกิจการได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำได้อย่างดียิ่งขึ้นด้วย

Drone นำมาใช้ในไร่นาได้อย่างไรบ้าง?

  1. เก็บข้อมูลภายในไร่นาเพื่อนำมาวิเคราะห์

การใช้โดรนที่มีกล้องติด เพื่อบินขึ้นไปถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลของการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกันแล้วแสดงผลแบบแยกพื้นที่ออกเป็นสีต่าง ๆ ง่ายต่อการวิเคราะห์หาการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุด มีเซนเซอร์เพื่อวัดความชื้นของอากาศ อุณหภูมิในดินและในอากาศ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ในช่วงเวลาต่าง ๆ ผนวกกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา Macroclimate หรือ เรดาร์ ข้อมูลดาวเทียม โมเดลสภาพอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนทางการเกษตรที่เหมาะสมต่อไป

  1. ป้องกัน กำจัด ศัตรูพืช

โดรนสามารถนำมาใช้ในการรดน้ำ การให้ฮอร์โมน การหว่านเมล็ดพันธ์ การหว่านปุ๋ย เพื่อลดข้อจำกัดของต้นพืชที่สูงทำให้แรงงานมนุษย์ไม่สามารถรดได้อย่างทั่วถึง โดยที่โดรนสามารถปรับระดับความสูงระหว่างตัวมันเองและต้นพืชอัตโนมัติ และสามารถติดตั้งระบบอัติโนมัติให้โดรนมีการปรับระดับหัวฉีดพ่นให้พ่นแบบเบาลง หรือแรงขึ้นได้ให้สอดคล้องกันกับความสูงของต้นพืช ซึ่งจะทำให้การพ่นนั้นจะไปถึงต้นพืชทุกต้นแน่นอน รวมถึงกำหนดช่วงเวลาของการให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องทำในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับต้นพืชที่ไม่สูงนัก การใช้โดรนก็ยังคงเป็นประโยชน์เพราะต้นพืชไม่ต้องโดนรุกรานเหยียบย่ำโดยมนุษย์เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น เมื่อนำโดรนมาติดตั้งเครื่องตรวจจับความร้อน เมื่อตรวจจับได้ว่ามีสัตว์เข้ามาใกล้ในพื้นที่ฟาร์ม โดรนสามารถปล่อยคลื่นอัลตราโซนิค (ultrasonic waves) ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยินเพื่อขับไล่สัตว์เหล่านั้นไปจากฟาร์มโดยไม่ต้องทำร้ายสัตว์ ทำให้สัตว์เหล่านั้นไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ และที่สำคัญ โดรนสามารถติดตั้งโปรแกรมระบบกันหลงทางเพื่อที่เจ้าโดรนนั้นจะสามารถบินกลับมาตำแหน่งเดิมได้เองด้วย

จะเห็นว่า ในภาคการเกษตร โดรนเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อก่อประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ด้าน โดรนตัวหนึ่ง ๆ สามารถทำงานได้ถึง 10-20 ไร่ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานคน ทั้งยังวางแผนควบคุมคุณภาพการผลิตและคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย