เกร็ดเล็กน้อยกับเทคโนโลยี 5G กับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

5G ถือเป็นเทคโนโลยีไร้สายประเภทหนึ่ง ที่มาพร้อมกับระดับความสามารถที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเร็ว (speed) ที่เพิ่มมากขึ้น ระดับความหน่วงในการรับส่งข้อมูลที่ลดน้อยลง (lower network latency) และขนาดของความจุที่สูงขึ้น (capacities) โดยมาตรฐานความเร็วของ 5G จะอยู่ที่ 1- 10 Gbps (กิกะบิต ต่อ วินาที)

นำ 5G มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ?

5G เมื่อนำมาใช้กับ Smart Devices จำพวก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอชท์ ทำให้การรับชมและแชร์วีดีโอเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะดุดอีกต่อไป อีกด้วยความสามารถนี้ จะช่วยส่งเสริมผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้นในหลากหลายเทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน อาทิ AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) โดยการเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลและยังค่อนข้างปลอดภัยอีกด้วย

5G เมื่อนำมาใช้กับ Internet Of Thing ซึ่งคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อการยกระดับสู่บ้านอัจฉริยะ (smart home) โดยนำมาควบคุม ทีวี ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศ กล้องวงจรปิด หรือ ยานยนต์อัจฉริยะ (autonomous driving technology) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยจากการที่รถยนต์สามารถทำกระบวนการตัดสินใจได้ภายในรถเอง หรือใช้ในทางการแพทย์ เพื่อฉายภาพ hologram ในการร่วมผ่าตัดระยะทางไกล เป็นต้น

สำหรับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ IoT ต้องการนั้นจะแตกต่างจากที่ Smart Devices  ต้องการ คือ ต้องการความเร็วไม่มากแต่ต้องพร้อมรองรับการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์จำนวนมาก ๆ ได้ในขณะเดียวกัน

แต่การจะเตรียมพร้อมไปสู่ 5G จะต้องผนวกกำลังจากทั้งภาครัฐในการกำกับดูแล แผนจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ และภาคเอกชนเพื่อเข้ามาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง ทำให้คลื่นถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยังต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชน เพื่อที่จะนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ และต้องคำนึงถึงด้านความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

ข้อควรระวังกับเทคโนโลยี 5G

อันที่จริงการนำเทคโนโลยีใด ๆ มาใช้นั้น สามารถสร้างประโยชน์มหาศาล แต่ก็ต้องระมัดระวังในด้านของความปลอดภัยเป็นเงาตามตัวเช่นกัน อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้นั้น อาจมาจากผู้ไม่ประสงค์ดีลักลอบ ดักฟัง บันทึกข้อมูลลับต่าง ๆ ทรัพย์สินทางออนไลน์มาข่มขู่ หลอกลวงผู้ใช้ หรือ การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ จากผู้ไม่ประสงค์ดีจากระยะไกล

ยกตัวอย่างเช่น ระบบบ้านอัจฉริยะ คนร้ายสามารถแฮ็กอุปกรณ์หลาย ๆ สิ่งในบ้าน อาทิ กล้องวงจรปิดเฝ้าดูทารก สมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ เพื่อการติดตามความเคลื่อนไหว การเดินทาง หรือข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนร้ายอาจเลือกแฮ็กเครื่องทำกาแฟ เครื่องปรับอากาศ กาต้มน้ำ เตาอบ หรืออุปกรณ์ที่สามารถก่ออันตรายหรือความเสียหายต่อบ้าน หรือ รถคันนั้น ๆ ได้

หากอุปกรณ์เหล่านี้ ได้มีการฝังระบบรักษาความปลอดภัย และมีกระบวนการจัดการกรณีที่พบช่องโหว่ ไม่ว่าจะเป็นการออก patch หรืออัพเดทเฟิร์มแวร์อัตโนมัติ ก็จะช่วยให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นนิสัยและพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย การไม่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ การตรวจสอบและมีสติต่อข้อมูล หรือการเตือนภัยที่ได้รับจากบุคคลที่ทั้งรู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม

 

Chatbot เป็นได้มากกว่าแค่ระบบอัตโนมัติสำหรับตอบคำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ในหลาย ๆ เว็บไซต์ โดยเฉพาะเว็บขายสินค้าออนไลน์ มักจะมีช่องทางสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า การจ่ายเงิน การจัดส่งสินค้า การรับประกันสินค้า และอื่น ๆ เสมือนกับอาชีพ Call Center ที่ใช้บุคลากรมนุษย์ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า แต่อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ ครั้งพนักงาน Call Center ก็ต้องตอบคำถามเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงต้องใช้ความอดทนกับข้อร้องเรียน หรืออารมณ์ หรือการตำหนิจากลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างความกดดดัน ความเครียดโดยไม่จำเป็น ดังนั้นแล้ว เทคโนโลยีจึงถูกนำมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ สิ่งนั้นก็คือ Chatbot

Chatbot คืออะไร?

Chatbot หรือแชทบอท คือ Conversational Interface เป็นช่องทางในการให้ผู้เข้ามาใช้เว็บไซต์มีปฏิสัมพันธ์กับระบบหรือเว็บไซต์นั้น ๆ โดย Chatbot นั้นมีหน้าที่ในการอ่านข้อมูลที่ลูกค้าถาม ตอบข้อมูลที่เหมาะสมแก่คำถามนั้น ๆ รวมถึงประสานงานทำธุรกรรมต่าง ๆ ในระบบ

รูปแบบของ Chatbot ที่ใช้เวลาในการพัฒนาไม่นานมาก อาจเป็นเพียงการสร้างเงื่อนไขในการตอบคำถาม (Rule-Based) ให้กับ Chatbot ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า หรือ ตอบคำถามที่พบบ่อยเบื้องต้น

แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ต้องการสังคม ดังนั้น Chatbot ที่ตอบคำถามได้เพียงเชิงข้อมูลดิบหรือเชิงวิชาการเท่านั้น จะทำให้ Chatbot ไม่สามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจแก่ผู้ใช้ได้ อีกทั้งบางครั้งผู้ใช้เลือกใช้ประโยคนำสมัย หรือพูดเล่นด้วยคำแสลงแล้ว Chatbot ไม่เข้าใจ ก็ส่งผลต่อ user experiences เช่นกัน

การสร้าง Chatbot ที่มีความฉลาดและมีบุคลิกเป็นของตนเอง (Persona) โดยนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาร่วมในการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ใช้ปริมาณมาก ๆ เพื่อให้เจ้า Chatbot เรียนรู้บทสนทนาในรูปแบบที่แตกต่างกันและประยุกต์ใช้ในบทสนทนากับผู้ใช้ที่แตกต่างกันออกไป Chatbot จะต้องคำนึงถึงความเรียบรื่นของการสนทนา การเริ่มต้นและจังหวะการปิดจบบทสนทนา ลักษณะบทสนทนาที่ใช้ต้องมีความสุภาพ น่าฟัง ไหลลื่น ไม่สร้างความสับสนแก่ลูกค้า

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยี AI สามารถเพิ่มความฉลาดให้กับ Chatbot ในการเข้าใจภาษาธรรมชาติ การคำนวนหาแนวโน้ม (trend) หาพฤติกรรมการใช้งาน และสร้างเงื่อนไข (rules) ในการตอบคำถามต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ (Personalization) และนำเสนอสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดขาย สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ไปจนถึงเป็นผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant) ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย

จะเห็นว่า Chatbot นั้นจะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Chatbot กับผู้ใช้งาน ทั้งยังช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการข้อมูล อย่างไรก็ตาม Chatbot นั้นยังคงเป็นระบบ ดังนั้น Chatbot จึงมาพร้อมกับความสามารถในการจัดเก็บบันทึกข้อมูลของผู้ใช้อย่างเป็นระเบียบ ค้นหาเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต วิเคราะห์ค้นหาทางเลือก และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้า เรียกได้ว่า การพัฒนาของ Chatbot นั้น จะนำไปสู่การผสมผสานความสามารถของมนุษย์กับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

 

จะดีแค่ไหน ? กับแท็บเล็ตที่พับได้กลายเป็นโทรศัพท์ในอันเดียวกัน (Foldable Phone)

เคยรู้สึกไหมว่าบางครั้งกิจกรรมที่เราอยากทำ ก็ต้องการใช้หน้าจอขนาดใหญ่ แต่หลังจากนั้นขนาดที่ใหญ่เทอะทะก็ทำให้การพกพาไปในที่ต่าง ๆ ค่อนข้างจะไม่สะดวก มันจะดีแค่ไหนถ้าหากโทรศัพท์ของเราสามารถพับปรับขนาดให้เล็กลงก็ได้ หรือกางออกมาเพื่อให้ใหญ่ขึ้นก็ได้ในเวลาที่ต้องการ

ด้วยความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจะช่วยตอบสนองความต้องการนี้ได้ด้วย “มือถือพับได้” ไม่ใช่โทรศัพท์แบบฝาพับแบบเมื่อก่อนนะ แต่เป็นมือถือที่พับหน้าจอได้จริง ๆ หรือที่เรียกกันในนามว่า Foldable Phone หลาย ๆ บริษัทได้พยายามคิดค้นและพัฒนาเจ้าสมาร์ทโฟนพับได้นี้อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในหลาย ๆ ด้าน ยังคงต้องคำนึงถึงการออกแบบพัฒนาหน้าตาการใช้งาน หรือ UX (User Experience) สำหรับหน้าจอขนาดต่าง ๆ อีกด้วย

ผู้ใช้จะสามารถสัมผัสกับประสบการณ์การใช้สมาร์ทโฟนแบบใหม่ที่ไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้นได้ด้วยเจ้าสมาร์ทโฟนพับได้นี้ เมื่อผู้ใช้ทำการพับหน้าจอก็จะสามารถใช้งานได้เหมือนสมาร์ทโฟนปกติทั่วไป แต่เมื่อผู้ใช้กางมันออกลักษณะเหมือนเปิดสมุดหรือหนังสือ ก็จะได้พบกับแท็บเล็ตจอใหญ่ ที่สามารถตั้งการให้ใช้งาน 2 แอพพลิเคชั่นที่ต่างกันในแต่ละหน้าจอ หรือใช้งานเพียงแอพพลิเคชั่นเดียวด้วยจอใหญ่เลยก็ได้ (Full screen)

สมาร์ทโฟนพับได้ ทำได้อย่างไร ?

ทั้งนี้เทคโนโลยีสำคัญในการสร้างสมาร์ทโฟนพับได้ ก็คือหน้าจอแสดงผล OLED โดยหน้าจอนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อที่จะทำให้หน้าจอสามารถถูกพับได้ โดย OLED (Organic Light Emitting Diodes) มีลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์มที่มีส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ โดยมีทั้งแบบโพลีเมอร์ (Polymer) และโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถเปล่งแสงเองได้เมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ โดย OLED จะบาง เบา และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถปรับให้โค้งงอได้ สิ่งที่ต้องค้นคว้าพัฒนาต่อไปคงจะเป็นอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะต้องปรับโค้ง หรือพับได้ตามไปด้วย อีกทางเลือกหนึ่งคือต้องศึกษาวางแผนการจัดวางอุปกรณ์เหล่านั้นที่จะไม่ส่งผลกระทบกับการพับหรือบิดงอ จำพวก แผงวงจร แบตเตอรี่ และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความสามารถก็คือ น้ำหนักซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน บวกกับแบตเตอรี่ที่จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อการรองรับการใช้งานที่มากขึ้น และจุดด้อยของสารอินทรีย์ที่ใช้ทำ OLED นั้นก็คือมีความเสียหายได้ง่ายเมื่อโดนน้ำหรือออกซิเจน ประกอบกับฟิล์มที่ให้กำเนิดสีน้ำเงินของ OLED นั้นมีอายุการใช้งานสั้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการจอเบิร์นได้ง่าย และที่สำคัญที่สุด ราคาที่มากับเทคโนโลยีนั้น คงเป็นสิ่งที่ต้องประเมิณพิจารณาตัดสินใจอีกครั้งเช่นกัน

 

GDPR ความปลอดภัยของผู้ใช้ ถือเป็นความหนักใจขององค์กรหรือไม่ อย่างไร?

ความเป็นส่วนบุคคล หรือ Privacy นั้น กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องหลักที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง สิทธิที่จะอยู่ตามลำพัง และเป็นสิทธิที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเอง ในการจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยให้กับผู้อื่น สิทธินี้หมายรวมถึงทั้งปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์การต่าง ๆ

เมื่อเทคโนโลยีที่มาในหลากหลายรูปแบบ ทำให้ขอบเขตของความเป็นส่วนบุคคลนั้นลดน้อยลงไป จนส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าของข้อมูลได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ Data Breach ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกขโมยไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หลายประเทศจึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคหรือที่เรียกกันว่า GDPR

GDPR ย่อมาจาก General Data Protection Regulation คือ กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคฉบับใหม่ของ EU (European Union) โดยให้ความคุ้มครองกับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตสหภาพยุโรป เน้นว่าครอบคลุมทุกคนที่อาศัยอยู่ในเขต EU โดยไม่จำเป็นว่าต้องมีสัญชาติใน EU นะ กฎหมายนี้มีข้อกำหนดให้ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ส่วนมากมักเกี่ยวกับว่าข้อมูลถูกนำไปใช้ที่ไหน และนำไปใช้อะไร และสิทธิต่าง ๆ ในการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น

อะไรบ้างที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล?

ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วยอะไรก็ตามที่จะบ่งบอก หรือระบุตัวตนได้ ในทางตรงไปตรงมา ได้แก่ เลขประจำตัว ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด รูปลักษณ์ ลักษณะทางกายภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรเครดิต ข้อมูลทางการแพทย์ และข้อมูลละเอียดอ่อนอื่น ๆ (Sensitive Information) เช่น ข้อมูลไบโอเมทริกส์ ไม่ว่าจะเป็น ลายนิ้วมือ เล็บ เส้นผม ดีเอ็นเอ และอื่น ๆ หรือรวมถึงข้อมูลในเชิงไลฟ์สไตล์ สถานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ทั้งยังคุ้มครองข้อมูลที่สามารถชี้กลับมายังตัวบุคคลได้ด้วยเช่นกัน เช่น IP address หรืออัตลักษณ์บนโลกโซเชียล

ภายใต้ GDPR บริษัทใดก็ตามที่ถือครองข้อมูลเหล่านี้อยู่ ต้องวางมาตรการควบคุม และจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดอย่างมั่นคงปลอดภัย ก่อนที่จะขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ การขอความยินยอมจากผู้บริโภคจะต้องมีข้อความที่อ่านเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่รวบรับชัดเจน ไม่คลุมเครือ และการถอนความยินยอมก็ต้องทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของข้อมูลสามารถขอให้หน่วยงานควบคุมข้อมูล ลบข้อมูลของตัวเองออกได้ หรือที่เรียกว่า สิทธิ์ที่จะถูกลืม (Right to be Forgotten) โดยองค์กรจะต้องจัดการให้ตามคำขออย่างเหมาะสมรวดเร็ว

บทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎนั้นถือว่าค่อนข้างแรงทีเดียว รวมถึงหากเกิดกรณี Data Breach ขึ้น ค่าปรับนั้นสูงถึง 4% ของผลประกอบการรายได้ทั่วโลกทั้งหมด หรือกว่า 20 ล้านยูโรเลย

 

วิวัฒนาการของภาคการเกษตร กับการใช้โดรน (drone) แทนแรงงานมนุษย์

การเกษตร การทำฟาร์ม โดยปกติแล้วจะเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ขนาดกว้างใหญ่ ที่จะต้องใช้แรงงานคนค่อนข้างมากเพื่อการควบคุมดูแลและบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง ด้วยการนำเทคโนโลยีอย่างโดรน (Drone) หรืออากาศยานไร้คนขับ  (Unmanned Aerial Vehicles) เข้ามาช่วยส่งเสริมการทำการเกษตรนั้น จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานคน ยิ่งในภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจนเกือบจะขาดแคลนด้วยแล้ว ยิ่งช่วยเกษตรกรเจ้าของกิจการได้มากขึ้น ทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตของสินค้าเกษตรได้อย่างแม่นยำได้อย่างดียิ่งขึ้นด้วย

Drone นำมาใช้ในไร่นาได้อย่างไรบ้าง?

  1. เก็บข้อมูลภายในไร่นาเพื่อนำมาวิเคราะห์

การใช้โดรนที่มีกล้องติด เพื่อบินขึ้นไปถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อเก็บข้อมูลของการเจริญเติบโตของพืชที่แตกต่างกันแล้วแสดงผลแบบแยกพื้นที่ออกเป็นสีต่าง ๆ ง่ายต่อการวิเคราะห์หาการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุด มีเซนเซอร์เพื่อวัดความชื้นของอากาศ อุณหภูมิในดินและในอากาศ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ในช่วงเวลาต่าง ๆ ผนวกกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา Macroclimate หรือ เรดาร์ ข้อมูลดาวเทียม โมเดลสภาพอากาศ เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนทางการเกษตรที่เหมาะสมต่อไป

  1. ป้องกัน กำจัด ศัตรูพืช

โดรนสามารถนำมาใช้ในการรดน้ำ การให้ฮอร์โมน การหว่านเมล็ดพันธ์ การหว่านปุ๋ย เพื่อลดข้อจำกัดของต้นพืชที่สูงทำให้แรงงานมนุษย์ไม่สามารถรดได้อย่างทั่วถึง โดยที่โดรนสามารถปรับระดับความสูงระหว่างตัวมันเองและต้นพืชอัตโนมัติ และสามารถติดตั้งระบบอัติโนมัติให้โดรนมีการปรับระดับหัวฉีดพ่นให้พ่นแบบเบาลง หรือแรงขึ้นได้ให้สอดคล้องกันกับความสูงของต้นพืช ซึ่งจะทำให้การพ่นนั้นจะไปถึงต้นพืชทุกต้นแน่นอน รวมถึงกำหนดช่วงเวลาของการให้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ซึ่งอาจต้องทำในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับต้นพืชที่ไม่สูงนัก การใช้โดรนก็ยังคงเป็นประโยชน์เพราะต้นพืชไม่ต้องโดนรุกรานเหยียบย่ำโดยมนุษย์เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น เมื่อนำโดรนมาติดตั้งเครื่องตรวจจับความร้อน เมื่อตรวจจับได้ว่ามีสัตว์เข้ามาใกล้ในพื้นที่ฟาร์ม โดรนสามารถปล่อยคลื่นอัลตราโซนิค (ultrasonic waves) ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มนุษย์ไม่ได้ยินเพื่อขับไล่สัตว์เหล่านั้นไปจากฟาร์มโดยไม่ต้องทำร้ายสัตว์ ทำให้สัตว์เหล่านั้นไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ และที่สำคัญ โดรนสามารถติดตั้งโปรแกรมระบบกันหลงทางเพื่อที่เจ้าโดรนนั้นจะสามารถบินกลับมาตำแหน่งเดิมได้เองด้วย

จะเห็นว่า ในภาคการเกษตร โดรนเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อก่อประโยชน์ได้ในหลาย ๆ ด้าน โดรนตัวหนึ่ง ๆ สามารถทำงานได้ถึง 10-20 ไร่ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำประหยัดเวลามากกว่าการใช้แรงงานคน ทั้งยังวางแผนควบคุมคุณภาพการผลิตและคาดการณ์ปริมาณผลผลิตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

 

QR payment จุดเริ่มต้นการเดินทางไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

มนุษย์มีความต้องการสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่หามาได้ด้วยตนเอง และหามาไม่ได้ด้วยตนเอง เมื่อมีความต้องการในบางสิ่ง แต่หามาเองไม่ได้ บวกกับการที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม การแลกเปลี่ยนจึงได้เกิดขึ้น เริ่มจากการแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของ ต่อด้วยการสร้างระบบการเงินตราในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน เบี้ย เหรียญ หรือธนบัตร เพื่อการและเปลี่ยนสินค้าและบริการ

เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ด้านหนึ่งของการผลักดันเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือ การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society นั่นก็คือ สังคมที่ไม่จำเป็นต้องพกพาธนบัตร เงินสดหรือบัตรเครดิตอีกต่อไป แล้วเปลี่ยนมาเป็นการใช้จ่ายด้วยระบบออนไลน์ ที่มีต้นทุนด้านการเงินที่ต่ำกว่า เพราะเท่ากับเป็นการลดต้นทุนการผลิตธนบัตรเพื่อนำมาหมุนเวียนในตลาด บัตรเครดิต บัตรเดบิต รวมถึงตู้ ATM ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นราคาที่มหาศาลเลยทีเดียว

QR code กับ Cashless Society

สิ่งหนึ่งในวิวัฒนาการของสังคมไร้เงินสด คือการชำระเงินด้วย QR Code โดย QR Code มาจากคำว่า Quick Response Code เป็นรหัสที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจาก Barcode แต่อยู่ในลักษณะบาร์โค้ด 2 มิติ  เพื่อให้สามารถใช้งานง่ายขึ้น เก็บข้อมูลได้มากขึ้น สามารถบรรจุข้อมูลได้ถึง 4,000 ตัวอักษร ใน QR code จะมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้านั้น ๆ เมื่อใช้ควบคู่กับแอพพลิเคชั่นที่ผูกไว้กับข้อมูลการเงินก็จะสามารถทำรายการตัดยอดเงินออนไลน์เพื่อชำระค่าสินค้าได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว

การชำระเงินด้วย QR นั้นถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการชำระเงินของร้านค้า ทั้งร้านแบบมีหน้าร้าน (Physical) และร้านค้าออนไลน์ เคยไหมที่ไปเดินตลาดนัด แต่ลืมกดเงินสดและไม่ได้พกบัตร ATM มาด้วย รู้ตัวอีกทีก็ไม่สามารถซื้อสินค้าได้เลย เพราะร้านค้าในตลาดนัดไม่รับบัตรเครดิต ถึงแม้จะเป็นร้านค้าแบบ Physical บนห้างที่รับบัตรเครดิต แต่ก็ต้องแบกรับต้นทุนจำพวกเครื่องรูดบัตรต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมการรูดบัตร

ในมุมของลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ได้รับประสบการณ์ในความสะดวกรวดเร็ว ความสะดวกสบายในการใช้งานที่ไม่ต้องพกพาเงินสดหรือบัตรหลาย ๆ ใบซึ่งนอกจากจะยุ่งยากแล้ว การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตยังปลอดภัยน้อยกว่า เพราะการยื่นบัตรให้ร้านค้านั้นอาจเสี่ยงต่อการโดนขโมยข้อมูลทางการเงินได้ แต่ปัญหาของความสะดวกสบายนี้เอง ที่อาจทำให้ผู้บริโภคมองข้ามหรือขาดวินัยทางการเงินแก่ตนเอง เพราะการชำระค่าสินค้าและบริการเพียงแค่ไม่กี่คลิก โดยที่มือยังไม่ได้หยิบจับหรือเห็นธนบัตรออกจากกระเป๋า อาจจะทำให้การควบคุบการใช้จ่ายของตนเองเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ EMVCo ซึ่งเป็นหน่วยงานต่างประเทศที่ดูแลสนับสนุนการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ เป็นผู้กำหนดมาตรฐานการชำระเงินในระดับสากล ได้ประกาศใช้มาตรฐานสากล QR Code สำหรับจ่ายเงินที่ผูกกับบัตรเครดิตและเดบิตแล้ว และธนาคารแห่งประเทศไทยกับสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้นำมาตรฐาน EMVCo มาปรับใช้ด้วยเช่นกัน

High Risk High Return จริงหรือไม่ อย่างไรกับ Cryptocurrency

เริ่มต้นจากการทำความรู้จักกับ Cryptocurrency กันก่อน Cryptocurrency มาจาก Cryptography + Currency แปลตรงตัวได้ว่า “สกุลเงินดิจิตอลที่ถูกเข้ารหัส” โดยการเข้ารหัสนั้นได้พัฒนามาจากเทคโนโลยี Blockchain จึงทำให้ cryptocurrency แตกต่างจากสกุลเงินดิจิตอลธรรมดาทั่ว ๆ ไป

แล้ว Blockchain คืออะไร ?

ลองคิดว่า Blockchain เปรียบเหมือนสมุดบัญชีในการบันทึกการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยที่การจะสร้างรายการธุรกรรม (Digital transactions) นั้นต้องอาศัยกุญแจสาธารณะ (Public Key) และคีย์ส่วนตัว (Private Key) ในการถ่ายโอนระหว่างหน่วยงาน เป็นลักษณะแบบการกระจายอำนาจแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralize) เพื่อล้มล้างแนวคิดของการมี “ตัวกลาง” ในทุกภาคส่วน เปลี่ยนเป็นการกระจายข้อมูลไปสู่ “ทุกคน” ในระบบแทน โดยแต่ละรายการธุรกรรมจะถูกส่งต่อไปเป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุก ๆ คน ดังนั้นรายการธุรกรรมที่เกิดในโลกของ Blockchain จึงยากมากต่อการปลอมแปลงและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

ลงทุนกับ Cryptocurrency ดีหรือไม่ อย่างไร ?

นอกเหนือจากความปลอดภัยแล้ว Cryptocurrency มีความเป็น Universal ของสกุลเงิน เพราะไม่ถูกกำหนดด้วยสัญชาติและกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นขั้นตอนการแลกเงิน ค่าธรรมเนียม และข้อจำกัดของเงินที่แลกมาจึงเป็นอีกข้อได้เปรียบของ Cryptocurrency แต่อย่างไรก็ตามการจะลงทุนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้ลงทุนควรจะทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งกับสิ่งเหล่านั้น เพื่อที่จะมีความรู้ ความเข้าใจมากพอที่จะบริหารและจัดการความเสี่ยงจากการลงทุน

สำหรับ Cryptocurrency นั้น เมื่อผู้ลงทุนเข้าใจเทคโนโลยีและการทำงานเบื้องหลังของมันแล้ว ประกอบกับราคาที่พุ่งขึ้นสูง ก็คงจะเรียกความสนใจของเหล่านักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย แต่อันที่จริงแล้ว การลงทุนทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง อย่างไรก็จะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เหมือนการลงทุนด้านอื่น ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของการพิจาราณาเลือกเหรียญ Cryptocurrency ว่าตัวไหนในตลาดที่น่าสนใจ ราคาและอัตราการผันผวนของราคา ระดับความเสี่ยง รวมถึงนักพัฒนาเหรียญ Cryptocurrency ทั้งยังควรกระจายการลงทุนแบบสมดุลในหลาย ๆ เหรียญ Cryptocurrency อีกด้วย

ด้านที่ต้องระวังสำหรับ Cryptocurrency ก็คือ เมื่อเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ถูกนำมาใช้ประโยชน์จากผู้ไม่ประสงค์ดี สืบเนื่องจากความปลอดภัยในเทคโนโลยีของ Blockchain นั่นเองทำให้เป็นทางหลบซ่อนที่ดีของผู้ประกอบธุรกิจด้านมืด เพื่อนำมาใช้ในการฟอกเงิน ค้าขายสิ่งเสพติด และอาชญากรมมผิดกฎหมายอื่น ๆ เพราะการสืบหาว่าผู้เป็นเจ้าของเงินนั้นคือใครเป็นได้ไปได้ยาก จนเกือบจะเรียกว่า เป็นไปไม่ได้เลยด้วย

สุดท้ายแล้ว การลงทุนใน Cryptocurrency ก็ถือว่าเป็น High Risk High Return อย่างหนึ่ง สามารถทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรเป็นจำนวนมาก แต่ก็สามารถทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

แบตเตอรี่ยุคใหม่ สร้างความแฮปปี้ได้มากแค่ไหน ไปดูกันเลย

เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฮม สมาร์ทวอช รถยนต์ และอื่น ๆ แต่ทว่าอุปกรณ์หลายอย่างเหล่านั้นต้องการแหล่งพลังงานในการทำงาน ซึ่งวิวัฒนาการสำหรับวัสดุให้พลังงานหรือแบตเตอรี่นั้นยังมีข้อจำกัด และต้องการการพัฒนามากยิ่งขึ้น นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีก็ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาแบตเตอรี่เช่นกัน เพื่อตอบสนองความสามารถของอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

มาตรฐานด้านความสามารถในการอัดประจุของแบตเตอรี่ จะขึ้นอยู่กับระบบการกักเก็บพลังงาน คงเป็นที่รู้จักกันดีกับ แบตเตอรี่ลิเธียม (Lithium-ion Batteries) โดยลิเธียมนั้นเป็นโลหะเบา และให้แรงดันไฟฟ้าสูง ความหนาแน่นพลังงานสูง จึงถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

ทางเลือกใหม่ของแบตเตอรี่ในรูปแบบอื่น

  • โซเดียมไอออน(sodiumion)

โซเดียม หรือก็คือส่วนประกอบหลังของเกลือที่ใช้ในการปรุงอาหารนั่นเอง การนำโซเดียมมาทำแบตเตอรี่นั้นทำให้โซเดียมไอออนมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตเพราะหาได้ง่าย เพราะน้ำทะเลเองก็เต็มไปด้วยโซเดียม และมีความปลอดภัยสูงกว่าลิเธียมไอออนแบตเตอรี่อีกด้วย

  • คาร์บอนแบตเตอรี่ (carbon battery)

ผลึกคาร์บอนหรือวัสดุพวก Graphene มีคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง และเบากว่าเหล็กธรรมดาทั่วไปมากถึง 6 เท่า ทำให้สามารถลำเลียงส่งกระแสไฟออกมาใช้ได้ในปริมาณที่มากกว่า การชาร์จไฟเข้าเร็วกว่าแบตเตอรี่อย่างลิเธียมไอออนมากถึง 20 เท่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น คาร์บอนยังถือเป็นทรัพยากรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

  • เส้นลวดนาโน(nanowires)

การใช้เส้นใยสายไฟนาโนที่มีขนาดบาง ยิ่งกว่าเส้นผมมนุษย์เป็นพันเท่า เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในแบตเตอรี่ จะช่วยเพิ่มพื้นที่และการเก็บประจุ การถ่ายเทประจุไฟฟ้ามากขึ้น จึงทำให้อายุการใช้งานนานมากขึ้น แต่ด้วยความบางจึงส่งผลให้สภาพของมันบอบบางไปด้วย

  • โฟมแบตเตอรี่ (foam battery)

โฟมอาจทำให้รู้สึกแปลกเมื่อนำมาทำเป็นแบตเตอรี่ แต่เมื่อนำโฟมมาเคลือบด้วยแอโนด (anode) จะสามารถสร้างแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเข้าได้เร็วกว่าแบตเตอรี่อย่างลิเธียมไอออนถึง 5 เท่า ที่สำคัญโฟมเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก ปลอดภัย และอายุการใช้งานยาวนานกว่าลิเธียมไอออนแบตเตอรี่

ยังคงมีอีกมากมายหลากหลายผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำมาเป็นทางเลือกในการผลิตแบตเตอรี่ การค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ขีดความสามารถของแบตเตอรี่ก้าวล้ำอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งด้านความอึด ความทน อายุการใช้งาน น้ำหนักของแบตเตอรี่ ความเร็วในการชาร์จไฟเข้า เพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภคโดยไม่ต้องมาคอยกังวลว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีแบตเตอรี่ระหว่างการใช้งาน ต้องเตรียมอุปกรณ์ชาร์จไฟสำรองไว้ หรือหากต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่กับอุปกรณ์เช่น ในสมาร์ทโฟน แล้วต้องเสี่ยงกับการที่สีฝาหลังหลุดหลอก หรือสูญเสียคุณสมบัติกันน้ำไปจากการเปิดฝา และความกังวลอื่น ๆ

หมดกังวลกับปัญหาระบบล่ม เมื่อนำเทคโนโลยี Microservices มาใช้งานได้จริง

สำหรับเหล่านักพัฒนาเว็บไซต์และเว็บแอปพลิเคชัน นอกเหนือจากการพัฒนาระบบให้มีฟังก์ชั่นที่ถูกต้องตามความต้องการ (Requirements) แล้วนั้น ยังคงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการใช้งาน (Performance) การพัฒนาปรับปรุง (Enhancement) และการซ่อมบำรุง (Maintenance) อีกด้วย หากการออกแบบระบบ ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปรับแก้ และซ่อมบำรุงเว็บแอปพลิเคชัน ประกอบกับหากเว็บเหล่านั้นมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากอยู่ต่อเนื่องตลอดเวลา คงเป็นการยากที่จะระงับการใช้งานเว็บไซต์และเว็บแอปพลิเคชันชั่วคราว และคงจะสร้างประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นักแก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ เทคโนโลยี Microservices จะสามารถช่วยลดปัญหาการระงับใช้ระบบชั่วคราว หรือ ทั้งระบบล่มจนไม่สามารถใช้งานได้

รู้จักกับ Microservices กันก่อน

Microservices แปลตรงตัวก็คือ บริการ (service) ขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ ตัว โดยที่ในแต่ละ service จะมีหน้าที่ในการทำงานเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ละ service จะต้องมีอิสระต่อกันไม่ผูกพันกับส่วนอื่น ๆ และอยู่ได้ด้วยตัวเอง (autonomous) การออกแบบ service จะต้องรองรับการทดแทนได้ เพื่อที่ว่า ถ้า service ตัวใดตัวหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ต้องปิดตัวลง หรือต้องการการปรับปรุงใหม่เนื่องด้วยความต้องการ (Requirements) เปลี่ยนแปลง หรือต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ระหว่างที่ระงับการใช้งาน service ตัวนั้น service ตัวอื่น ๆ จะต้องยังคงต้องสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ

ยกตัวอย่างเช่น ระบบเว็บไซต์จองโรงแรม ก็อาจจะแบ่ง service ออกเป็นย่อย ๆ เช่น service สำหรับค้นหาโรงแรม service สำหรับลงทะเบียนสมาชิก service สำหรับจองโรงแรม service สำหรับยกเลิกการจอง service สำหรับรีวิวโรงแรมแ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกแบบโครงสร้างและแบ่งส่วน Microservices รวมถึงการวางแผนการส่งต่อข้อมูลระหว่าง service เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด

ระบบล่มคืออะไร?

ข้อผิดพลาดในระบบนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป คงไม่มีระบบใดในโลกที่ปราศจากข้อผิดพลาดเลย โดยข้อผิดพลาดเหล่านั้นอาจเกิดได้จากเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยเหตุทางตรงก็คือความผิดพลาดในฟังก์ชั่นการทำงานจริง ๆ หรือที่เรียกกันว่า bugs ที่หนักหนาจนทำให้ระบบติดขัดทำงานต่อไม่ได้ ในทางอ้อมอาจเกิดจากการที่ผู้ใช้จำนวนมาก ใช้งานหนักจนเกิดขีดจำกัดของระบบ จนกระทั่งระบบรับไม่ไหว จึงล่มและไม่สามารถทำงานต่อไปได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ใช้งานต้องพบเจอกับข้อความยุ่งเหยิงหรือ error messages หรือหน้าจอค้างไม่ตอบสนองอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้เอง การที่ระบบถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อรองรับเหตุการณ์เมื่อระบบเกิดข้อผิดพลาด จะทำให้ป้องกันการล่มของระบบทั้งหมดได้ จะเห็นว่าเมื่อระบบถูกออกแบบมาในรูปแบบของ Microservices จะทำให้การตรวจสอบเพื่อค้นหาส่วนที่ต้องแก้ไขเมื่อประสบปัญหาเป็นไปได้ง่าย ทำให้ระบบสามารถเรียกกลับคืนได้ไว รวดเร็ว และในระหว่างการแก้ไข service ใด ๆ นั้น service อื่น ๆ จะยังคงทำงานได้ต่อไปตามปกติไม่มีการหยุดชะงักหรือ crash ทั้งระบบ นั่นถือว่า ระบบถูกออกแบบมาได้ดีแล้ว

5 นวัตกรรมแปลกใหม่จากโลกอนาคต ที่ทำให้คุณต้องอ้าปากค้าง

นวัตกรรมและสิ่งใหม่ ๆ เป็นผลพวงมาจากความฉลาดล้ำของมนุษย์ที่ยากเกินจะเข้าใจ และความฉลาดล้ำของมนุษย์นี้เองที่สร้างสรรค์และก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันน่าตื่นตาตื่นใจขึ้นมามากมาย และสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่ช่วยอำนวยความสพดวกให้เหล่ามวลมนุษยชาติ

Continue reading “5 นวัตกรรมแปลกใหม่จากโลกอนาคต ที่ทำให้คุณต้องอ้าปากค้าง”