ในแต่ละวัน มนุษย์เราต้องการการพักผ่อน มนุษย์ใช้เวลานอนหลับประมาณ 1 ใน 3 ของเวลาทั้งหมด มากน้อยขึ้นกับแต่ละบุคคล การนอนหลับอย่างมีคุณภาพนั้น ถือเป็นการพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในระหว่างการนอนหลับนั้น ทั้งร่างกายและสมองจะทำการฟื้นฟู ซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
อาการนอนไม่หลับ หรือ Insomnia นั้น เป็นอาการผิดปกติในการนอน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับไม่สนิท หรือ การตื่นขึ้นมาตอนกลางดึก โดยอาการนอนไม่หลับนั้น จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดสมาธิ ระบบความจำมีปัญหา ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ความสามารถในการวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ลดน้อยลง ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจอีกด้วย การนอนไม่หลับทำให้มีอาการไม่สดชื่น และอารมณ์ไม่ดีร่วมด้วย ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อตนเองแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
เทคโนโลยีช่วยการนอนหลับได้อย่างไร ?
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนหลับนั้น แบ่งได้เป็น ปัจจัยภายนอก อาทิ อุณหภูมิ แสง เสียง ในห้องนอน และปัจจัยภายใน เช่น ความเครียด ความเจ็บป่วย ฮอร์โมน ระดับคาเฟอีนในร่างการ และอื่น ๆ
ดังนั้น หลายบริษัทจึงเห็นความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ โดยนำเทคโนโลยีมาร่วมกับทางการแพทย์ สร้างสรรค์เป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้โดย
- วิเคราะห์พฤติกรรมผู้นอน
โดยการใช้เซ็นเซอร์และอัลกอริทึ่มบนที่นอน ในการติดตามการนอนและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น ตรวจจับว่าผู้นอนนั้นหลับแล้วหรือยัง ? บันทึกระยะเวลาการนอนหลับก่อนที่จะตื่นขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิในห้อง วัดคลื่นเสียง ปริมาณก๊าซออกซิเจน ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตราการเคลื่อนไหว รวมถึงการกรนด้วย
- กระตุ้นการนอนหลับ
อุปกรณ์ส่งเสริมการนอนที่ผนวกผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปนั้น สามารถช่วยกระตุ้นการนอนหลับได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น หมอนกอดที่สามารถขยับขึ้น-ลง เสมือนการหายใจยุบพองเป็นจังหวะสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น สังเกตุได้จากเด็กที่นอนซบบนอกแม่ จะหลับง่ายกว่า การสั่นเตือนเบา ๆ ให้ขยับเปลี่ยนท่านอน ป้องกันการปวดเมื่อยจากการกดทับ เครื่องปล่อยกลิ่นอโรมาที่ช่วยในการนอนหลับ การส่งเสียงดนตรี หรือแม้แต่เล่านิทานเพื่อช่วยให้เคลิบเคลิ้มและหลับง่ายขึ้น
ปัจจัยช่วยกระตุ้นส่งเสริมการนอนหลับนั้น จะช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น การนอนหลับที่ลึกมากพอ จะทำให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ที่ใช้ในการซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ผิวหนังหรืออวัยวะต่าง ๆ ที่สึกหรอ และสร้างสมดุลระบบการเผาผลาญอาหาร ทำให้ดูอ่อนเยาว์ ร่วมกับสารเมลาโทนินที่จะถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปกป้องเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่จะช่วยลดการอักเสบหรือภูมิแพ้ของผิวหนังต่าง ๆ