ถ้าถามถึงบริษัทขนาดยักษ์ ความมั่นคงสูง และเป็นที่ทำงานในฝันของใครหลาย ๆ คน หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ Google อยู่อย่างแน่นอน แต่ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเสิร์ชเอนจินอันดับหนึ่งของโลกอย่างกูเกิ้ลซึ่งเปรียบดังสวรรค์ของใครหลาย ๆ คนจะมีวันสั่นคลอนกับเขาเหมือนกัน โดยเฉพาะเหล่าบรรดาผู้บริหารที่ตอนนี้คอขึ้นพาดเขียงกันแทบทุกผู้ทุกคน ชนวนเหตุเริ่มตั้งแต่วันดีเดย์ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ตอนนี้ยังเป็นปัญหาคุกรุ่นเกิดความไม่พอใจทั้งภายในองค์กรและต่อสาธารณชน
1 พฤศจิกายน 2018 พนักงานกูเกิ้ลรวมตัวประท้วงต่อต้านองค์กรต้นสังกัด เรื่องพฤติกรรมอุ้มชูอดีตผู้บริหารที่ล่วงละเมิดทางเพศพนักงานสาว นาย แอนดี้ รูบิน หนึ่งในผู้ร่วมคิดค้นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ทำการบังคับให้พนักงานสาวคนหนึ่งยินยอมมีความสัมพันธ์ด้วย ให้หลังได้ไม่นานสตรีนิรนามคนดังกล่าวได้นำเรื่องฉาวนี้รายงานต่อกูเกิ้ลจนบริษัทต้องเปิดการสอบสวนภายใน หลังการสอบสวนที่ไม่ได้เปิดเผยมีเหตุให้เชื่อได้ว่านาย แอนดี้ รูบิน ผิดจริง เขาจึงชิงลาออกจากบริษัทไปเมื่อปี 2014 แต่แล้วเรื่องนี้กลับร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ขุดคุ้ยจนพบว่ากูเกิ้ลยังแอบเลี้ยงแอนดี้โดยให้ค่าตอบแทนการลาออกกว่า 90 ล้านเหรียญในแบบแบ่งจ่ายเป็นงวด ทั้งยังนำเงินของบริษัทไปลงทุนร่วมกับบริษัทใหม่ของนายแอนดี้อีกต่างหาก การลงโทษที่เหมือนให้โชคนี้ทำให้พนักงาน Google กว่า 20 ประเทศไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันลุกฮือประท้วงบริษัททั้งยังมีประชาชนทั่วไปร่วมด้วย ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนหรือความรับผิดชอบใด ๆ ออกมาจากบริษัทเลย
28 พฤศจิกายน 2018 พนักงาน Google กว่า 200 ชีวิต ทั้งนักออกแบบ วิศวกร ผู้จัดการ ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกขอให้บริษัทยุติโครงการ “ดราก้อนฟลาย” ซึ่งเป็นเสมือนการแฉโครงการที่บริษัทต้องการปิดเป็นความลับไปในตัว โครงการดังกล่าวคือความร่วมมืออย่างลับ ๆ ระหว่างกูเกิ้ลกับรัฐบาลจีนในการนำเสิร์ชเอนจินของตัวเองเข้าไปเปิดให้บริการบนแผ่นดินมังกร ทว่าพวกเขาต้องยอมแลกกับการเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างตามที่รัฐบาลจีนร้องขอ ซึ่งการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้เช่นนั้นทำให้ประชาชนฝั่งประชาธิปไตยอย่างชาวอเมริกันรับไม่ได้ ยิ่งคนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นยิ่งกระอักกระอ่วนใจหนักกว่าใครเพื่อนและไม่สามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายเพราะขัดกับอุดมคติของตนเองทั้งยังเหมือนเป็นการทรยศชาติอีกด้วย
11 ธันวาคม 2018 นาย ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิ้ลถึงคิวที่ต้องให้การกับสภาคองเกรส ต่อจาก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟชบุ๊ค กับ แจ็ค ดอร์ซีย์ จากทวิตเตอร์ เรื่องความโปร่งใส ความปลอดภัย การเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน เนื่องจากมีข้อสงสัยหลาย ๆ ด้านจากทั้งฝั่งการเมืองและสังคม โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงผลการเลือกตั้ง การตลาดที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายจนอาจเข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัวเป็นต้น
มรสุมที่กำลังโถมกระหน่ำบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่นี้อาจลุกลามใหญ่โตได้หากยังไม่สามารถหาข้อสรุป หรือให้คำตอบที่ชัดเจนกับสังคม โดยเฉพาะประเด็นระหว่างประเทศที่กูเกิ้ลอาจจะถูกต่อต้านจากคนอเมริกันเอง ซึ่งความวุ่นวายในฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ควรขัดแย้งกับคนจำนวนมาก งานนี้อาจมีหวยออกที่ผู้บริหารบางคนเต็ม ๆ ซึ่งบางทีการลาออกจากตำแหน่งอาจไม่พอจ่ายราคาความเสียหายนี้ด้วยซ้ำ