จะดีแค่ไหน ? กับแท็บเล็ตที่พับได้กลายเป็นโทรศัพท์ในอันเดียวกัน (Foldable Phone)

เคยรู้สึกไหมว่าบางครั้งกิจกรรมที่เราอยากทำ ก็ต้องการใช้หน้าจอขนาดใหญ่ แต่หลังจากนั้นขนาดที่ใหญ่เทอะทะก็ทำให้การพกพาไปในที่ต่าง ๆ ค่อนข้างจะไม่สะดวก มันจะดีแค่ไหนถ้าหากโทรศัพท์ของเราสามารถพับปรับขนาดให้เล็กลงก็ได้ หรือกางออกมาเพื่อให้ใหญ่ขึ้นก็ได้ในเวลาที่ต้องการ

ด้วยความล้ำหน้าของเทคโนโลยีจะช่วยตอบสนองความต้องการนี้ได้ด้วย “มือถือพับได้” ไม่ใช่โทรศัพท์แบบฝาพับแบบเมื่อก่อนนะ แต่เป็นมือถือที่พับหน้าจอได้จริง ๆ หรือที่เรียกกันในนามว่า Foldable Phone หลาย ๆ บริษัทได้พยายามคิดค้นและพัฒนาเจ้าสมาร์ทโฟนพับได้นี้อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในหลาย ๆ ด้าน ยังคงต้องคำนึงถึงการออกแบบพัฒนาหน้าตาการใช้งาน หรือ UX (User Experience) สำหรับหน้าจอขนาดต่าง ๆ อีกด้วย

ผู้ใช้จะสามารถสัมผัสกับประสบการณ์การใช้สมาร์ทโฟนแบบใหม่ที่ไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้นได้ด้วยเจ้าสมาร์ทโฟนพับได้นี้ เมื่อผู้ใช้ทำการพับหน้าจอก็จะสามารถใช้งานได้เหมือนสมาร์ทโฟนปกติทั่วไป แต่เมื่อผู้ใช้กางมันออกลักษณะเหมือนเปิดสมุดหรือหนังสือ ก็จะได้พบกับแท็บเล็ตจอใหญ่ ที่สามารถตั้งการให้ใช้งาน 2 แอพพลิเคชั่นที่ต่างกันในแต่ละหน้าจอ หรือใช้งานเพียงแอพพลิเคชั่นเดียวด้วยจอใหญ่เลยก็ได้ (Full screen)

สมาร์ทโฟนพับได้ ทำได้อย่างไร ?

ทั้งนี้เทคโนโลยีสำคัญในการสร้างสมาร์ทโฟนพับได้ ก็คือหน้าจอแสดงผล OLED โดยหน้าจอนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อที่จะทำให้หน้าจอสามารถถูกพับได้ โดย OLED (Organic Light Emitting Diodes) มีลักษณะคล้ายแผ่นฟิล์มที่มีส่วนประกอบเป็นสารอินทรีย์ โดยมีทั้งแบบโพลีเมอร์ (Polymer) และโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถเปล่งแสงเองได้เมื่อได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ โดย OLED จะบาง เบา และมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถปรับให้โค้งงอได้ สิ่งที่ต้องค้นคว้าพัฒนาต่อไปคงจะเป็นอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะต้องปรับโค้ง หรือพับได้ตามไปด้วย อีกทางเลือกหนึ่งคือต้องศึกษาวางแผนการจัดวางอุปกรณ์เหล่านั้นที่จะไม่ส่งผลกระทบกับการพับหรือบิดงอ จำพวก แผงวงจร แบตเตอรี่ และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมาพร้อมกับความสามารถก็คือ น้ำหนักซึ่งเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน บวกกับแบตเตอรี่ที่จะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อการรองรับการใช้งานที่มากขึ้น และจุดด้อยของสารอินทรีย์ที่ใช้ทำ OLED นั้นก็คือมีความเสียหายได้ง่ายเมื่อโดนน้ำหรือออกซิเจน ประกอบกับฟิล์มที่ให้กำเนิดสีน้ำเงินของ OLED นั้นมีอายุการใช้งานสั้นซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการจอเบิร์นได้ง่าย และที่สำคัญที่สุด ราคาที่มากับเทคโนโลยีนั้น คงเป็นสิ่งที่ต้องประเมิณพิจารณาตัดสินใจอีกครั้งเช่นกัน